ประธานาธิบดีกรีซเล็งเดินหน้าความพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อตั้งรัฐบาลผสมวันนี้

ข่าวต่างประเทศ Sunday May 13, 2012 06:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทำเนียบประธานาธิบดีกรีซเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่าประธานาธิบดีคาโรลอส ปาปูลิอาสของกรีซจะดำเนินความพยายามครั้งสุดท้ายในวันนี้สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลผสม หลังผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากในรัฐสภา

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากปธน.ปาปูลิอาสได้พบกับนายอีแวนเจลอส เวนิเซลอส ผู้นำพรรค PASOK ซึ่งได้คืนอำนาจในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแก่ประธานาธิบดีหลังจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคฝ่ายซ้ายหรือ SYRIZA ได้ในการเจรจาเมื่อวันศุกร์ โดยนายเวนิเซลอสได้รับมอบอำนาจดังกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

แถลงการณ์ระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญแล้ว ปธน.ปาปูลิอาสจะจัดการประชุมกับผู้นำแต่ละพรรคจากพรรคการเมืองทั้ง 7 พรรคที่จะเข้าร่วมในสมัชชาชุดใหม่

ในระหว่างการพบปะกันเมื่อวานนี้ นายเวนิเซลอสกล่าวกับปธน.ปาปูลิอาสว่าพรรค PASOK, New Democracy และพรรค Democratic Left ซึ่งเป็นพรรคขนาดเล็กที่รั้งอันดับสุดท้ายในการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น ได้เห็นพ้องกันเกี่ยวกับรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีวาระ 2 ปีเพื่อทำให้กรีซยังคงอยู่ในยูโรโซนต่อไป และจะมีการเจรจาครั้งใหม่เกี่ยวกับเงื่อนไขบางประการของข้อตกลงช่วยเหลือกับกลุ่มผู้ปล่อยกู้ระหว่างประเทศเพื่อรับมือวิกฤตหนี้ที่รุนแรง

นายเวนิเซลอสระบุว่าความพยายามต่างๆควรมุ่งเน้นไปที่การชักจูงให้พรรค SYRIZA ให้มาเข้าร่วมรัฐบาลผสม

แต่นายอเล็กซิส ซิปราส ผู้นำพรรค SYRIZA ยังคงคัดค้านมาตรการรัดเข็มขัดที่มีการกำหนดขึ้นภายใต้ข้อตกลงกับสมาชิกอื่นๆของสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นับแต่ปี 2553 เพื่อแลกกับเงินกู้จำนวนหลายพันล้านยูโรเพื่อช่วยให้กรีซรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ โดยพรรค SYRIZA ได้เรียกร้องให้มีการพิจารณาทบทวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดบางส่วนซึ่งทำให้ประชาชนชาวกรีซมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ปธน.ปาปูลิอาสได้แสดงความหวังว่าการสนับสนุนของเขาในความพยายามต่างๆเพื่อจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปในเชิงบวก ขณะที่ “สิ่งต่างๆเป็นเรื่องยากมาก"

บรรดาเจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ทั้งในและต่างประเทศได้เตือนว่า หากกรีซไม่สามารถทำตามตารางเวลาและเป้าหมายต่างๆภายใต้ข้อตกลงการรับเงินช่วยเหลือท่ามกลางความไร้เสถียรภาพทางการเมือง กลุ่มผู้ปล่อยกู้ก็อาจจะยุติการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลืองวดต่อไป และกีซจะเผชิญกับภาวะล้มละลายและอาจจะต้องออกจากยูโรโซน

รัฐธรรมนูญกรีซไม่ได้กำหนดกรอบเวลาสำหรับการพิจารณาจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การสนับสนุนของประธานาธิบดี แต่หากความพยายามครั้งนี้ล้มเหลว รัฐธรรมนูญจะให้ทางเลือกแก่ปธน.ปาปูลิอาสในการแต่งตั้งรัฐบาลรักษาการ ซึ่งมีประธานศาลฎีกาหรือประธานสภาแห่งรัฐเป็นผู้นำรัฐบาล ก่อนที่จะกำหนดวันเลือกตั้งรอบใหม่เมื่อมีการประชุมรัฐสภาชุดใหม่ในวันที่ 17 พ.ค.

ทั้งนี้ สื่อมวลชนของกรีซรายงานว่าการเลือกตั้งรอบ 2 อาจจะมีขึ้นในวันที่ 10 หรือ 17 มิ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ