นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร ชี้การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2556 ของรัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ไม่มีมาตรการรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 58 และความห่วงใยเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณที่ขาดความโปร่งใส
"งบประมาณฉบับนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ที่กระผมตั้งขึ้น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ในด้านเศรษฐกิจหากดูแค่ผิวเผินเหมือนว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีพอควร อย่างกรณีที่นายกรัฐมนตรีแถลงว่าการจัดทำงบประมาณบนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 5.5-6.5% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงพอสมควร จนอาจทำให้วางใจกันว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว เพราะประมาณการเศรษฐกิจจะขยายตัว 5.5-6.5% เกิดจากแรงขับเคลื่อนด้านอุปสงค์ การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อฟื้นฟูทรัพย์สินที่เสียหายภายหลังสถานการณ์อุทกภัยรุนแรง
"อัตราการขยายตัวที่ 5.5-6.5% แท้ที่จริงแล้วไม่ได้สะท้อนคุณภาพชีวิตหริอความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น แต่เป็นภาวะชั่วคราวในแง่ของการฟื้นฟูจากความเสียหายที่ประสบเมื่อปีที่แล้ว..เมื่อดูปีต่อไปในเอกสารที่ระบุว่าจีดีพีปี 2556 โต 4-5% ก็เป็นเสมือนภาพลวงตา" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนที่ระบุว่าปีนี้ขาดดุล 3 แสนล้านบาท และเป็นการขาดดุลลดลงจากปีที่แล้ว ดูเหมือนว่าเราสามารถบริหารจัดการให้เข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วรัฐบาลที่แล้วตั้งเป้าว่าจะต้องจัดทำงบประมาณแบบสมดุลภายใน 5 ปี การที่ขาดดุลงบประมาณปีนี้ลดลงก็เหมือนเป็นสัญญาณที่ดี แต่การขาดงบประมาณปีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการก่อหนี้สาธารณะ สิ่งที่สำคัญคือเรามีเงินกู้ที่เกิดจากรัฐบาลออกกฎหมายหลังน้ำท่วม และรัฐบาลจะต้องกู้เงินอีก ภาวะการก่อหนี้หรือการขาดดุลงบประมาณไม่ได้ลดลงจาก 2 ปี 6 เดือน ของรัฐบาลชุดที่แล้ว ก่อหนี้น้อยกว่าที่รัฐบาลชุดนี้ทำในปีเดียว โดยมีการก่อหนี้กว่า 1 ล้านล้านบาทในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี
"ขอแสดงความห่วงใยในการจัดดำเนินนโยบายงบประมาณว่าจะทำให้เรากลับสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพและการเติบโตที่ยั่งยืน ยังไม่ได้รับการตอบสนองในนโยบายด้านการเงินการคลัง โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่เป็นที่น่าวางใจ ดังนั้นการใช้จ่ายต้องเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง สร้างการเติบโต สร้างความเป็นธรรม และเป็นหลักประกันที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีทั้งแพงและทั้งถูกทั้งแผ่นดิน เพราะวันที่นายกรัฐมนตรีไปที่จังหวัดระยองไปดูปัญหามาบตาพุด สิ่งที่ตนเองสนใจคือ เมื่อนายกรัฐมนตรีเสร็จภารกิจที่มาบตาพุดแล้วไปสำรวจตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน และภายใต้คำพูดที่ว่าแพงทั้งแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีบอกว่ามีของที่ไม่แพง เพราะเงาะ 4 กิโลกรัม ราคา 100 บาท และยังมีแนวโน้มจะลดลงไปอีก ซึ่งมีเกษตรกรออกมาประท้วงหลายจังหวัด
"ที่ไม่แพงทั้งแผ่นดิน ที่ถูกทั้งแผ่นดินตอนนี้คือพืชผลทางการเกษตร" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจเติบโตต้องจัดเงินไปช่วยพี่น้องเกษตรกร งบประมาณที่จัดไปช่วยเหลือเกษตรกร วันนี้ปรากฎในงบที่จัดสรรให้ ธ.ก.ส.จำนวน 69,000 ล้านบาท แต่เงินที่จัดให้ ธ.ก.ส.ขณะนี้เป็นการจัดงบประมาณเพื่อแก้ปัญหา ธ.ก.ส.ในนโยบายจำนำพืชผล ส่วนที่รัฐบาลประกาศนโยบายจำนำข้าว 15,000 บาท ยังไม่ปรากฎงบประมาณ แต่ให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการจ่ายเงินไปก่อนเกือบ 3 แสนล้านบาท สุดท้ายไม่ช้าไม่นาน 3 แสนล้านบาทที่ออกไปและอาจจะต้องขาดทุนถึง 1 แสนกว่าล้านบาทในระยะเวลาเพียงปีกเดียว และถ้าเดินหน้าโครงการรับจำนำต่อไปและเป็นภาระต่องบประมาณปีละหลักแสนล้านอะไรจะเกิดขึ้นกับฐานะการเงินการคลัง
"ผมจะไม่ว่าเลยถ้าทำให้เกษตรกรมีฐานะที่ดีขึ้นจริง วันนี้อยากจะทราบว่าเกษตรกรกี่รายที่ไปจำนำข้าวและได้ 15,000 บาท ผมเดินทางเยอะในช่วงเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ไม่มีหรอกครับ โครงการจำนำไม่เพียงล้มเหลวในอดีต มีปัญหาว่าเกษตรกรไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เกษตรกรที่ปลูกข้าวเองหรือเหลือข้าวอยู่น้อยไม่ได้ประโยชน์ มีปัญหาเรื่องน้ำหนัก ความชื้น และทุจริตเกิดขึ้น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า รัฐบาลใช้เงินภาษีไปเพื่อช่วยคนกลุ่มหนึ่งให้มีรถยนต์คันแรกหรือการเพิ่มรายได้ ตนเองเห็นด้วยกับการเพิ่มค่าแรง แต่จากการประกาศนโยบายของรัฐบาลมีปัญหา 2 ด้าน ด้านหนึ่งไม่สามารถทำตามที่ประกาศได้ว่าจะเพิ่มค่าแรง 300 บาททั่วประเทศทันที เพราะค่าแรง 300 บาทใช้ 7 จังหวัด อีกด้านคือการเตรียมพร้อมของภาคธุรกิจที่จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับค่าแรง ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบตรงจุด ถ้าเดินหน้าแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้ฐานะความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่หรือเศรษฐกิจดีขึ้น
ส่วนการปรับตัวของธุรกิจมาตรการที่รัฐบาลนี้ใช้คือลดภาษีเงินได้นิติบุคคล คนที่ได้ประโยชน์หลักๆจากมาตรการนี้คือธุรกิจขนาดใหญ่ สาขาหลักที่ได้ประโยชน์เช่นพลังงาน อย่าง ปตท.ได้ประโยชน์ บางทีตนเองก็อดน้อยใจแทนพี่น้องประชาชนไม่ได้ว่า ถ้ารัฐบาลห่วงใยความเป็นอยู่ของประชาชนเท่ากับที่ใส่ใจฐานะของ ปตท. วันนี้พี่น้องส่วนใหญ่จะมีความเป็นอยู่ดีกว่านี้ โทรคมนาคมก็ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ระบบธนาคาร ฯลฯ ธุรกิจเหล่านี้เมื่อลดภาษีแล้วขาดเงินมาพัฒนา 75,000 ล้านบาท แต่ถามว่าเขาจะมีแรงจูงใจขยายธุรกิจหรือไม่ มีผลน้อยมาก แต่คนที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงจริงๆ เช่น เอสเอ็มอี แทบไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้เลย และมาตรการที่อนุมัติไปก็ไม่ได้ช่วยเขาเลย ถ้าเขาต้องเสียเพิ่ม 100 บาท รัฐบาลช่วยเขาไม่ถึง 20 บาท และสุดท้ายก็มีการย้ายฐานไปที่อื่น
"นี่ไม่ใช่คำตอบของความเป็นอยู่ทีดีของประชาชน และเศรษฐกิจ อยากให้รัฐบาลทบทวนว่ามาตรการประชานิยม เอาภาษีจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่คำตอบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว