ปชป. แฉจำนำข้าวรัฐล้มเหลวเงินไม่ถึงมือเกษตรกร-สอบตกนโยบายพลังงาน

ข่าวการเมือง Tuesday May 22, 2012 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ที่สภาผู้แทนราษฎรว่า ตรวจสอบพบความผิดพลาดในการใช้จ่ายงบประมาณตามนโยบายของรัฐบาลหลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นนโยบายหาเสียงของรัฐบาล ที่เดิมตั้งเป้าว่าจะรับจำนำทุกเมล็ด แต่ปรากฎในข้อเท็จจริงแล้วว่า รัฐบาลใช้งบประมาณไปแล้วมโหฬารถึง 194,00 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้ผ่านธ.ก.ส. 144,000 ล้านบาท ผ่านออมสินและกรุงไทยอีก 5 หมื่นล้านบาท แต่กลับออกใบประทวนให้พี่น้องชาวนาเข้าร่วมจำนำได้เพียง 1.7 ล้านใบ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 30% ของจำนวนชาวนาที่มีถึง 5.6 ล้านครัวเรือน

ทั้งนี้ จากการที่ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจหาข้อมูลร่วมกับคณะกรรมาธิการ ยังพบว่า ชาวนาจำนวนมากร่วมโครงการจำนำไม่ได้ราคาสูง อย่างที่รัฐบาลรับปากไว้ บางพื้นที่ราคาที่ได้รับหายไป 4,000-5,000 บาทต่อตัน ก็ไม่รู้ว่าส่วนต่างนี้อยู่ที่ใคร นอกจากนั้น ยังมีข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ เนื่องจากราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดมาก จึงเกิดกองทัพมดขนข้าวเข้ามาขายตามแนวชายแดน

"ขณะนี้รัฐบาลยังต้องแบกสต็อคข้าวที่จำนำเอาไว้ถึง 12 ล้านตันแล้ว แต่ราคาส่งออกในตลาดโลกก็ตกต่ำลงอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ถ้าขายข้าวออกมาก็มีแต่รัฐบาลจะขาดทุนและทำให้ราคาในตลาดตกลงไปอีก ขณะที่ยอดส่งออกข้าวของไทยก็ลดลงจากเดือนละ 1 ล้านตัน มาในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2555 กลับส่งออกได้รวมเพียง 2.4 ล้านตันเท่านั้น ต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิในตลาดโลกก็ตกลงจาก 1,136 เหรียญสหรัฐ/ตัน เหลือแค่ 1,080 เหรียญสหรัฐ/ตัน"นายเกียรติระบุ

นอกจากนั้น รัฐบาลชุดนี้ล้มเหลวและสอบตกนโยบายแก้ปัญหาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นราคา LPG ที่มีการขึ้นราคาในส่วนผู้ใช้ที่เป็นภาคอุตสาหกรรมถึง 4 ครั้ง จนขณะนี้ราคาที่เอกชนไทยซื้อต้นทุนแพงกว่าต่างประเทศด้วยซ้ำ ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ซื้อในราคาเท่าไหร่กลับไม่มีการเปิดเผย เพราะส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือปตท.ทั้งสิ้น

ขณะที่ภาคครัวเรือน ก็ต้องซื้อ LPG แพงขึ้น ขนาดถังบรรจุ 15 กก. รัฐกำหนดราคา 260 บาท/ถัง แต่ร้านค้าจำหน่ายราคาถึง 300-350 บาท/ถัง และยังมีการขยายตัวของปริมาณการใช้ก๊าซในครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างเกินกว่าความเป็นจริงถึง 1 แสนตัน/เดือน คิดเป็นปริมาณ 6.7 ล้านถัง/เดือนหรือกว่า 80 ล้านถัง/ปี เกิดจากการลักลอบส่งออกไปต่างประเทศ ความเสียหายมากถึง 2.4 หมื่นล้านบาท แต่กระทรวงพลังงานกลับตั้งงบประมาณปราบปรามการลักลอบตามแนวชายแดนไว้เพียง 5 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก

ในส่วนของราคาขายก๊าซธรรมชาติหรือ NGV คนไทยก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าความเป็นจริง เมื่อมีผลศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาชัดเจนว่า ค่าบริหารที่ปตท.บวกในราคาเอ็นจีวีถึง 5 บาท/กก.นั้น สูงกว่ามาตรฐานจริงๆควรจะอยู่ที่ 2 บาท/กก.เท่านั้น ผลจากราคาก๊าซที่แพงนี้เองทำให้มีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บวกเอากับประชาชน เพราะก๊าซธรรมชาติคือวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ค่าเอฟทีในอีก 1 เดือนข้างหน้าจะปรับขึ้นอีก 30 สตางค์ต่อหน่วย หรือทุกครอบครัวจะต้องซื้อไฟแพงขึ้นอีก 10% จนถึงขณะนี้กระทรวงพลังงานยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลตรงนี้ออกมา จึงถือเป็นเรื่องอธิบายไม่ได้และไม่มีสิทธิขึ้นค่าเอฟทีที่ทำให้คนไทยต้องเดือดร้อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ