นายชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตกรรมการปฏิรูปประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง "รัฐชาติ สู่รัฐการตลาด อำนาจรวมศูนย์" โดยกล่าวว่า ในทางรัฐศาสตร์หรือในทางสังคมเราแบ่งความสัมพันธ์เป็น 3 เส้า ได้แก่ รัฐ, เอกชน และประชาสังคม รัฐในที่นี้หมายถึงระบบราชการและรัฐบาลอยู่บนสุด ถัดลงมาก็เป็นภาคเอกชนซึ่งมีตัวแทนของตลาดเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ และภาคประชาสังคมที่มีประชาชนและชุมชน ซึ่งในแต่ละสมัยความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ส่วนมีความแตกต่างกันไป ก่อให้เกิดนโยบายในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นส่วนผสมระหว่างผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม
แต่ในปัจจุบันการกระจายอำนาจของรัฐ ไม่ได้กระจายสู่ประชาสังคม เพราะเอกชนหรือตลาดก้าวหน้าไปมาก ซึ่งทำให้ระบบการเมืองของวันนี้แตกต่างจากสมัยก่อน เพราะในอดีตการหาเสียง นโยบาย และการดำเนินการ ยังมีข้อพิจารณาเกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ แต่การเมืองปัจจุบันกลับไม่เสรี และละเลยประโยชน์ส่วนรวม เพราะมีกลุ่มทุนหรือตลาดครอบงำ ทำให้ตลาดการเมืองแบบใหม่ไม่ต่างจากตลาดของการซื้อขาย การเลือกตั้งก็เป็นการซื้อขาย
"จะว่าไปวันนี้เราไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง เพราะในความเป็นจริงการเลือกตั้งก็คือการประมูล ใครมีเงินมากก็ได้ตำแหน่งหรือพื้นที่ตรงนั้นไป การซื้อขายตำแหน่งก็มีมาก เพราะฉะนั้นเมื่ออิทธิพลของตลาดที่เข้าสู่การเมือง ก็ทำให้ประชาชนมีความเคยชินกับการเมืองที่กลายเป็นลักษณะผู้ซื้อผู้ขายในที่สุด เหมือนคำที่ว่าเงินไม่มากไม่เป็น จึงไม่แปลกว่าการซื้อเสียงในท้องถิ่นจึงมีมาก" นายชัยอนันต์กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการ "จากรัฐรวมศูนย์อำนาจ สู่การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน" จัดโดยกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์
พร้อมมองว่า งบประมาณของชาติไม่ใช่ของสาธารณะอีกต่อไป แต่เป็นการแย่งชิงของนักการเมืองที่แข่งขันกันเข้าไปควบคุมอำนาจกลไกรัฐ เพื่อนำงบประมาณมาใช้ประโยชน์มากกว่า การคอร์รัปชั่นจึงเกิดขึ้นมาก โดยทั่วไปเราจะพบว่าปัญหาของประชาธิปไตย ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของพรรคการเมืองหรือคุณธรรมของนักการเมือง แต่อยู่ที่โครงสร้างของรัฐและโครงสร้างตลาด
รัฐได้แปรสภาพจากรัฐที่รวมศูนย์อำนาจกลายเป็นรัฐตลาด สิ่งที่เห็นได้ชัดคือนโยบายประชานิยมที่มุ่งซื้อคะแนนเสียงจากประชาชน ซื้อขายคะแนนเสียงกลายเป็นการแลกเปลี่ยนทางการเมือง อำนาจที่ได้ไปก็นำไปทำให้ประชาชนให้สนับสนุนโดยหวังได้เสียงคืนมา นักการเมืองวันนี้พยายามทำสองอย่าง คือมือหนึ่งแย่งชิงงบประมาณมาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว อีกมือก็นำงบประมาณลงไปให้ประชาชน เพื่อหวังซื้อเสียงให้ตัวเอง
นายชัยอนันต์ ชี้ว่ายุคนี้ต้องยอมรับว่าตลาดมีอำนาจมากกว่ารัฐ รัฐต้องทำทุกวิถีทางที่จะรักษาตลาดไว้ โดยเฉพาะตลาดทุนที่เป็นเครื่องบ่งชี้เสถียรภาพของรัฐบาล ทำให้ฝ่ายการเมืองพยายามรักษากฎหมายสร้างมาตรการต่าง ๆ เพื่อชักจูงให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้อิทธิพลของตลาดมีส่วนกำหนดนโยบายของรัฐหลายอย่าง เช่น นโยบายต่างประเทศ และเศรษฐกิจ เพื่อเป็นหลักประกันว่านักลงทุนเข้ามาในประเทศต้องได้รับการคุ้มครอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ลักษณะดั้งเดิมของรัฐเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ให้ความสำคัญกับเอกชนหรือตลาดมากกว่าภาคประชาสังคม
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าเมื่อดูความสัมพันธ์ของรัฐ ตลาด และชุมชนในปัจจุบัน จะพบว่าตลาดเติบโตขึ้นมาก ปริมาณความสำคัญของธุรกรรมการเงินของตลาดของบรรษัทข้ามชาติต่างๆ มีมากว่างบประมาณของรัฐหลายร้อยเท่า ตลาดขยายตัวโดยมีเครื่องมือของตัวเอง ระบบราชการและชุมชนด้อยกว่าเป็นอย่างมาก เพราะวันนี้ประชาสังคมถูกประกบอยู่ตรงกลางระหว่างอำนาจรัฐที่รวมศูนย์และไม่เป็นกลาง กับอำนาจตลาดที่รุกรานชีวิตของประชาชนในรูปแบบของระบบทุนนิยมต่างๆ ดังนั้นทางออกของปัญหานี้คือ ต้องมีเศรษกิจพอเพียงพึ่งตัวเองให้ได้ เพื่อปฏิเสธทั้งอำนาจรัฐและอำนาจตลาด
"ปัญหาของประชาธิปไตยนั้นเป็นปัญหาของอำนาจรัฐและอำนาจตลาด ที่ทั้งสองอำนาจยังไม่เสรีอย่างแท้จริง ทำให้เสรีประชาธิปไตยที่แท้จริงเหมือนในต่างประเทศยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ตราบเท่าที่ยังมีความพยายามเข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐ และนำอำนาจรัฐไปออกนโยบายเพื่อส่งเสริมกลุ่มนายทุน ความเป็นอิสระเสรีของรัฐและตลาดไม่สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว ก็จะเป็นความกดดันให้ประชาชนปลีกตัวออกจากอำนาจทั้งสอง" นายชัยอนันต์ กล่าว