นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐเล็งเห็นถึงทัศนะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างอิหร่านกับประเทศมหาอำนาจทั้ง 6 ของโลก ในประเด็นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน หลังสิ้นสุดการประชุมเป็นเวลา 2 วัน ณ กรุงแบกแดด และได้เรียกร้องให้อิหร่าน “ดำเนินการเพื่อลดความคิดเห็นที่ต่างกัน"
“มีทัศนะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในสิ่งที่ต่างฝ่ายเห็นว่าอาจจะเป็นไปได้ เราคิดว่าทางเลือกในการแก้ปัญหา ณ ขณะนี้ก็คือ อิหร่านต้องหาทางลดความเห็นที่ต่างกันนั้นให้ได้" นางคลินตันให้สัมภาษณ์นักข่าว หลังจากที่พบกับนายเมอร์เรย์ แมคคัลลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ
“เห็นได้ชัดว่ายังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมาก” นางคลินตันกล่าวต่อ
แม้ว่านางคลินตันจะไม่ได้กล่าวถึงการประชุมที่แบกแดดมากนัก แต่ก็ย้ำว่า สหรัฐจะเพิ่มแรงกดดันต่ออิหร่าน ขณะที่ใช้วิธีการเจรจาควบคู่กันไปด้วย
“ในขณะที่เราวางพื้นฐานสำหรับการประชุม เราก็จะเพิ่มแรงกดดันต่ออิหร่านต่อไป อันเป็นส่วนหนึ่งของแผน 2 แนวทางของเรา การคว่ำบาตรทั้งหมดของเราจะยังมีอยู่และจะดำเนินต่อไปในระหว่างนี้" นางคลินตันกล่าว
อิหร่าน และ 6 ชาติมหาอำนาจของโลก อันได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และเยอรมนี ตกลงที่จะจัดการเจรจาอีกรอบที่กรุงมอสโคว์ในวันที่ 18-19 มิถุนายน เพื่อคลี่คลายข้อพิพาทด้านนิวเคลียร์
นางแคเธอรีน แอชตัน หัวหน้านโยบายต่างประเทศของกลุ่มสหภาพยุโรป ผู้เป็นตัวแทนของ 6 ประเทศมหาอำนาจในการเจรจากับอิหร่านครั้งนี้กล่าวว่า “อิหร่านประกาศความพร้อมที่จะจัดการกับประเด็นการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม 20% และเสนอแผน 5 ข้อของตนเอง โดยเรียกร้องในแผนดังกล่าวให้มีการยอมรับในสิทธิของอิหร่านในการเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียม"
ทั้งนี้ ในการประชุมที่กรุงแบกแดด 6 ชาติมหาอำนาจต่างหาทางที่จะหยุดยั้งอิหร่านไม่ให้เสริมสมรรถนะยูเรเนียมในอาวุธนิวเคลียร์
ในขณะเดียวกัน หลายประเทศตะวันตกต่างก็ตั้งข้อสงสัยว่าอิหร่านกำลังพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์เบื้องหลังโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่อิหร่านก็ยืนยันว่าโครงการนิวเคลียร์ดังกล่าวนั้นเป็นโครงการเพื่อสันติภาพ สำนักข่าวซินหัวรายงาน