"พงศ์เทพ"ชี้วงการยุติธรรมบิดเบี้ยวทำชนวนปฏิวัติ หวังปชช.ตรวจสอบตุลาการ

ข่าวการเมือง Wednesday May 30, 2012 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวในงาน "5 ปีที่ฟันฝ่า เดินหน้าประชาธิปไตย" ที่จัดขึ้นโดยสมาชิกบ้านเลขที่ 111 กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมจนถึงทุกวันนี้ถือว่ามีความรุนแรงมาก เพราะไม่ใช่แค่ความแตกต่างทางความคิดแต่กลายเป็นความแตกแยกและความขัดแย้งทางสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลมาจากการปฏิวัติเมื่อ 19 ก.ย.49

สำหรับจุดที่ทำให้เกิดการปฏิวัตินั้น ต้องยอมรับว่าเกิดจากความบิดเบี้ยวในกระบวนการตุลาการที่มาจากบุคคลบางคนที่ทำให้วงการนี้เสียหาย เนื่องจากมีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมไม่ให้มีความอิสระ โดยจะเห็นได้จากที่มีผู้ใหญ่ในวงการตุลาการบางคนออกมาพูดว่า หลังจากนี้ไปคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรมจะไม่มีความขัดแย้งต่อกัน ซึ่งหากมองผิวเผินก็น่าจะเป็นเรื่องดี แต่ในความเป็นจริงแล้วคำพิพากษาของแต่ละศาลอาจจะมีคำตัดสินหรือคำพิพากษาไม่ได้ออกมาในทิศทางเดียวกัน และที่ผ่านมาทั้งโจทก์และจำเลยต่างให้การยอมรับเพราะเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมนั้นๆ

แต่ในเมื่อมีผู้ใหญ่ในวงการตุลาการออกมาพูดในลักษณะเช่นนี้ ย่อมจะก่อให้เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมที่อาจถูกมองได้ว่า คำพิพากษาของแต่ละศาลที่ต่อจากนี้ไปจะไม่มีความขัดแย้งกันนั้นอาจจะมีใบสั่งลงมาให้การตัดสินเป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่ออกมาพูดเช่นนี้ ท้ายสุดแล้วพบว่าได้ดิบได้ดีในคณะรัฐมนตรีชุดที่เป็นผลพวงจากการปฏิวัติ

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า หากคนในกระบวนการยุติธรรมต้องการจะลงมาเล่นการเมือง ก็ควรจะออกมาแสดงตัวให้ชัดเจนหรือเข้าสังกัดพรรคการเมืองไปเลย แต่ไม่ควรอยู่เบื้องหลังในลักษณะเช่นนี้ และไปพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย และส่งผลให้วงการตุลาการเสียหายในที่สุด พร้อมเรียกร้องให้กระบวนการตุลาการในอนาคตสามารถตรวจสอบได้โดยภาคประชาชน เพื่อจะให้ได้มาซึ่งตุลาการที่มีความเข้มแข็งและเป็นกลาง

อย่างไรก็ดี จุดหนึ่งมีมองเห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมเริ่มมีปัญหา เกิดขึ้นหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยพบว่ามีความพยายามที่จะไม่ให้เกิดมีการเลือกตั้ง เนื่องจากมีบางพรรคการเมืองรู้ตัวดีว่าจะต้องแพ้การเลือกตั้ง จึงพยายามบอยคอตเรื่องการลงรับสมัครเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งความพยายามที่จะล้มคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และบีบให้ลาออกเพื่อไม่ให้มีการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ