อดีตแกนนำทรท.ออกแถลงการณ์หนุนร่างรธน.ฉบับใหม่-ต้านรัฐประหาร

ข่าวการเมือง Wednesday May 30, 2012 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรนต์ ฉายเสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย อ่านแถลงการณ์ เนื่องในโอกาสครอบรอบ 5 ปี แห่งการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองโดยไม่ชอบธรรม ระบุว่า ในช่วงนี้ที่กำลังจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น พวกเราทุกคน พร้อมจะร่วมมือกับพี่น้องประชาชนและกลุ่มคนทุกฝ่าย ช่วยกันผลักดันให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้เกิดขึ้นในสังคมไทยสืบไป

"การรัฐประหารและผลพวงแห่งการรัฐประหาร ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศไทยในทุกด้าน เราหวังว่าประชาชนชาวไทยจะตระหนักและจดจำ ผลแห่งความเสียหายดังกล่าว และแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน เป็นมติมหาชนว่า ประชาชนชาวไทยจะไม่ยอมรับและไม่อดทนต่อการรัฐประหารอีกต่อไป ทั้งจะต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบอย่างเด็ดเดี่ยว" เอกสารแถลงการณ์ ระบุ

แถลงการณ์ ระบุว่า พรรคไทยรักไทยได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 โดยการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 248 คนจากทั้งหมด 500 คน

อีกสี่ปีต่อมา ภายหลังการนำนโยบายต่างๆไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ในเดือนมกราคม 2548 พรรคไทยรักไทยโดยการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเช่นเดิม ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 377 คนจากทั้งหมด 500 คน นับได้ว่าเป็นครั้งแรกแห่งประวัติศาสตร์การเมืองและการเลือกตั้งของไทย ที่พรรคการเมืองพรรคเดียวได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนอย่างท่วมท้นและไม่เคยปรากฏมาก่อนตลอดช่วงเวลา 80 ปี ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475

แต่แล้วก็เกิดการรัฐประหารขึ้น เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 27 ในวันที่ 30 กันยายน 2549 เพื่อให้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคนในกรณีที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง และในวันรุ่งขึ้นคือ 1 ตุลาคม 2549 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 โดยให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นแทนศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินคดีและสั่งยุบพรรคการเมือง ตลอดจนการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหม่แทนชุดเดิม การแต่งตั้งคณะกรรมการการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (ค.ต.ส.) ขึ้นใหม่ ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการป.ป.ช. รวมทั้งการกระทำที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมอีกมากมาย

ในที่สุด เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ได้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทยและเสียงข้างมากของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนั้นได้ลงมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้งหมด ด้วยการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง โดยผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิดังกล่าว ไม่ได้รับการแจ้งข้อหา ไม่มีการเปิดโอกาสให้ชี้แจง หรือต่อสู้คดีแต่อย่างใด อันถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้ง และเป็นการดำเนินการที่มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อลบพรรคไทยรักไทยซึ่งมีสมาชิกกว่า 14 ล้านคน ออกจากสารบบพรรคการเมือง ตลอดจนเพื่อสกัดกั้นกรรมการบริหารพรรคทั้ง 111 คน มิให้เป็นกำลังในพรรคการเมืองที่ต่อต้านการรัฐประหาร

ผลพวงของการรัฐประหาร มิได้จบสิ้นลงเพียงแค่การยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยเท่านั้น การดำเนินคดีโดยคณะกรรมการ ค.ต.ส. และป.ป.ช. ที่ได้เอกสิทธิตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 และมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือฉบับปัจจุบันต่อบุคคลต่างๆ ล้วนขัดต่อหลักนิติธรรมและขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับให้ถือว่าการกระทำของคณะกรรมการดังกล่าว เป็นการชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แม้ว่าอันที่จริงแล้ว หลายกรณีอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเองก็ตาม ทั้ง 2 มาตราที่กล่าวมา บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นการนิรโทษกรรมการกระทำของคณะรัฐประหาร และผู้ที่ปฏิบัติตามประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหาร ที่ได้ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าเสียดายที่ศาลทั้งหลายต่างก็ยอมรับว่า ผู้ที่ทำรัฐประหารสำเร็จเป็น รัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจสูงสุดในประเทศ คำสั่งหรือประกาศของหัวหน้า หรือคณะรัฐประหารมีผลใช้บังคับทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหารหรือตุลาการ นั่นคือใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยได้ทุกรูปแบบ แทนที่ได้ทุกสถาบัน แม้จะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือหลักนิติธรรมก็ตาม หรือแม้แต่การแต่งตั้งคณะกรรมการ ค.ต.ส. และป.ป.ช. ซึ่งคณะรัฐประหารยอมรับในระบบกฎหมายที่ดำรงอยู่ว่าต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่ก็มิได้มีการดำเนินการให้มีการโปรดเกล้าฯ กลับถือว่าเป็นเรื่องของรัฏฐาธิปัตย์ หากศาลทั้งหลายจะไม่ยอมรับในอำนาจอันไม่ชอบธรรม ขัดต่อหลักนิติธรรมของคณะรัฐประหารแล้ว ก็จะไม่มีวงจรอุบาทว์เช่นนี้อีกต่อไป และประชาชนก็จะได้เรียนรู้ถึงประชาธิปไตย การเข้าถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพต่างๆ ด้วยชีวิตจริง การสัมผัสจริง อันจะทำให้ระบบการเมืองและนักการเมืองต้องเคารพในสิทธิดังกล่าวของประชาชนยิ่งขึ้น ความขัดแย้งทั้งหลายจะดำรงอยู่ในกรอบของประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ที่ปกป้องดูแลอย่างปราศจากอคติโดยศาลทั้งหลาย สังคมก็จะไม่แตกแยกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่นทุกวันนี้

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งจัดให้มีขึ้นโดยคณะรัฐประหาร ยังได้นำบทบัญญัติเรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจากประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ดังกล่าว ไปบัญญัติไว้ในมาตรา 237 จนเป็นเหตุให้มีการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนและพรรคอื่นๆ ในเวลาต่อมา ทั้งๆ ที่มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญนั้นบัญญัติให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2 มาตรฐานขนานแท้ นั่นคือด้านหนึ่งยืนยันว่า ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม แต่อีกด้านหนึ่ง กลับรับรองความอยุติธรรมและสิ่งที่ขัดต่อหลักนิติธรรมไว้อย่างชัดแจ้ง จึงไม่น่าแปลกใจที่พรรคการเมืองบางพรรคและบุคคลบางกลุ่ม จะปกป้องรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือแห่งการข่มเหงของพวกตนไว้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่พรรคการเมืองและประชาชนที่รักประชาธิปไตยนั้น ก็ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมประชาธิปไตย หลักนิติรัฐและนิติธรรมอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ