นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ผลจากการยุบพรรคไทยรักไทยและมีการตัดสิทธิทางการเมืองสมาชิกบ้านเลขที่ 111 นั้น แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยยังมีปัญหา เนื่องจากคณะตุลาการชุดที่ตัดสินถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะปฏิวัติ
ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ เปรียบเทียบระหว่างคดียุบพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)กับพรรคไทยรักไทยว่า คดีของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นเสมือนเป็นการแก้ต่างให้ประชาชนได้ทราบว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำผิด ในขณะที่คดีของพรรคไทยรักไทยนั้น เหมือนตัดสินแบบจับแพะชนแกะ และลงโทษแบบเหมาเข่ง
"เหมือนจับแพะชนแกะ...การตัดสินเหมือนกับการโต้วาทีที่ไม่เปิดโอกาสให้ได้คู่แข่งพูดเลย และเป็นการใช้อำนาจเผด็จการไม่ใช่อำนาจประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าการตัดสินคดีในลักษณะนี้มีที่ประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้น" นายจาตุรนต์ กล่าวในงาน "5 ปีที่ฟันฝ่า เดินหน้าประชาธิปไตย" ที่จัดขึ้นโดยสมาชิกบ้านเลขที่ 111
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมายอมรับคำตัดสินแต่ไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณา และเห็นว่าการตัดสินได้ส่งผลเสียต่อประเทศชาติ เพราะการตัดสิทธิทางการเมืองถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นประชาชน จนส่งผลให้เกิดวิกฤติการเมืองต่อเนื่องมา ซึ่งปัญหายังไม่จบสิ้น เพราะมีความพยายามจะล้มล้างพรรคการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ และถึงแม้พรรคพลังประชาชน(พปช.) จะชนะการเลือกตั้งเข้ามาอีกก็ยังถูกคำสั่งยุบพรรคอีกรอบ
นายจาตุรนต์ กล่าวในตอนท้ายว่า วิกฤติทางการเมืองจะหมดไปได้หากระบบตุลาการภิวัฒน์ถูกยกเลิกไป และจะต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ด้านนายวีระกานต์ มุสิกพงษ์ สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และอดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวว่า อำนาจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นประชาธิปไตยมี 2 ส่วน คือ ระบบเผด็จการทหารกับระบบอำมาตย์ ซึ่งในอดีตจะผลัดกันขึ้นมาครองอำนาจ แต่ในปี 49 ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากเนื่องจากเผด็จการทหารกับระบบอำมาตย์มีการร่วมมือกันกระทำการที่ละเมิดต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ดังนั้น แนวทางที่แก้ไขปัญหาต่อไปคือ ต้องพยายามประคับประคองรัฐบาลประชาธิปไตยให้อยู่ต่อไป โดยไม่ยอมให้มีใครมาทำรัฐประหารอีก ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตคนที่ต่อต้านรัฐประหารก็พร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้โดยไม่จำเป็นต้องมีแกนนำใดๆ