นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวถึงเหตุขัดข้องในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติว่า เมื่อวานนี้ฝ่ายค้านได้หยิบยกประเด็นว่า ร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯ จะถือเป็น พ.ร.บ.ทางการเงินด้วยหรือไม่นั้น ทำให้ในวันนี้จะต้องมีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 35 คณะ เพื่อร่วมกันพิจารณาในประเด็นดังกล่าวตามข้อสังเกตของฝ่ายค้าน
ทั้งนี้ หากที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 35 คณะได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ถือเป็น พ.ร.บ.ทางการเงิน ก็จำเป็นจะต้องส่งเรื่องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรองก่อนแต่หากเห็นว่าไม่ใช่ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ก็จะมีการพิจารณาต่อว่าจะเลื่อนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนหรือไม่ และหากที่ประชุมสภาฯ วันนี้ลงมติให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนก็จะต้องให้วิปรัฐบาลหารืออีกครั้งว่าจะมีการพิจารณาในวันใด
ส่วนข้อกังวลที่ว่ารัฐบาลจะเร่งรัดให้มีการตั้งกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ใน 3 วาระรวดนั้น นายอุดมเดช เชื่อว่ารัฐบาลคงจะไม่ทำเช่นนั้น อย่างไรก็ดี หากพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ไม่มาเข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ที่เป็นผู้นำเสนอนั้น ที่ประชุมสภาฯ ก็อาจจะไปใช่ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ฉบับที่เสนอโดยนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทยแทนได้
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ยืนยันว่า ฝ่ายค้านจะยังเดินหน้าในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติต่อไป เพราะหากปล่อยให้กฎหมายนี้ออกมามีผลบังคับใช้จะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก แต่ยอมรับว่าเหตุการณ์ความวุ่นวายดังกล่าวที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมสภาฯ เมื่อวานนี้ได้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของฝ่ายค้าน
ส่วนการทำงานในสภาฯ ร่วมกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น ยังคงสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้ เพียงแต่มองว่าเมื่อวานนี้นายสมศักดิ์ อาจจะทำหน้าที่ไม่เหมาะสมที่เร่งรัดให้มีการลงมติเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน