"สุเทพ"ชี้สภาป่วนเหตุขุนค้อนไม่เป็นกลาง เร่งเข็นพ.ร.บ.ปรองดองจนเกินงาม

ข่าวการเมือง Thursday May 31, 2012 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ระบุว่า เหตุการณ์ความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้(30 พ.ค.) จะไม่เกิดขึ้นหากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดและเป็นกลางโดยไม่ปฏิบัติตามใบสั่งจากใคร

ทั้งนี้มองว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเป็นผลจากที่นายสมศักดิ์ ไม่สามารถชี้แจงและให้เหตุผลที่กระจ่างได้ว่าเหตุใดจึงต้องขอเลื่อนการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ ขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วน และเหตุใด ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ จึงไม่ถือเป็น พ.ร.บ.ทางการเงินตามที่ส.ส.ฝ่ายค้านได้ทักท้วง ในทางกลับกันนายสมศักดิ์ กลับดื้อดึงและใช้อำนาจความเป็นประธานสภาฯ ว่าได้ใช้ดุลยพินิจตัดสินแล้วว่าไม่ถือเป็น พ.ร.บ.ทางการเงิน โดยไม่ฟังเสียงท้วงติงของที่ประชุม

"หากประธานไม่ตุกติกกับคำสั่งของคนแดนไกล ความจริงประธานสภาฯ สามารถชี้แจงได้ว่าที่เร่งด่วนเพราะอะไร ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจมาบีบบังคับ" นายสุเทพ ระบุ

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ตามที่วันนี้ประธานสภาฯ จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะ เพื่อพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ว่าเข้าข่ายเป็น พ.ร.บ.ทางการเงินหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ก็เป็นข้อเสนอที่ฝ่ายค้านได้หยิบยกขึ้นมาเมื่อวาน ซึ่งฝ่ายค้านพร้อมเคารพกฎกติกาไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรตราบใดที่ทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ แม้จะทราบดีว่ากรรมาธิการทั้ง 35 คณะนั้น จะมีประธานกรรมาธิการที่เป็นฝ่ายรัฐบาลถึง 19 คณะก็ตาม ซึ่งฝ่ายค้านจะเดินหน้าต่อสู้ในเรื่องนี้ต่อไป

นายสุเทพ ไม่ขอคาดเดาผลที่จะออกมาล่วงหน้า เพราะเห็นว่าประธานคณะกรรมาธิการอาจจะมีเหตุผลมากกว่าประธานสภาฯ และยอมรับในเหตุผลมากกว่าก็เป็นได้ แต่หากคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะมีมติเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไม่เข้าข่ายเป็น พ.ร.บ.ทางการเงินนั้น ทางฝ่ายค้านก็คงจะต้องชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ เพื่อให้เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ที่จะต้องพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เพราะรัฐบาลยังมีปัญหาสำคัญอื่นๆ ที่ต้องเร่งพิจารณามากกว่า เช่น การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในปี 54 ตลอดจนปัญหาราคาสินค้าแพง

นอกจากนี้ ฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมีการเตรียมการเร่งรัดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตามมา ซึ่งฝ่ายค้านจะอภิปรายให้ประชาชนเห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ