(เพิ่มเติม) กมธ.มีมติ 22:1 ชี้ร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯไม่ใช่กม.การเงิน เปิดสภาฯถกต่อ

ข่าวการเมือง Thursday May 31, 2012 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 35 คณะลงมติหลังจากใช้เวลาหารือนานกว่า 5 ชม.ตั้งแต่เวลา 11.30 น.เพื่อพิจารณาประเด็นว่าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ จะถือเป็น พ.ร.บ.ทางการเงินด้วยหรือไม่นั้น ล่าสุดได้มีมติ 22:1 ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไม่ใช่ พ.ร.บ.การเงิน โดยต่อจากนี้จะนำ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในการลงมติครั้งนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้วอลค์เอ้าท์ออกจากที่ประชุม โดยไม่ร่วมลงมติ

ขั้นตอนต่อจากนี้ จะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติว่าจะมีการเลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรได้เริ่มการประชุมขึ้นแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะ ได้เชิญผู้เสนอร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับมาชี้แจง ประกอบด้วย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ, นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายนิยม วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทยมาชี้แจง

โดยผู้ชี้แจงทั้ง 4 คนได้ชี้แจงไปในทิศทางเดียวกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ที่นำเสนอนั้น มีเป้าประสงค์เพื่อยกเว้นโทษในคดีทางอาญาอันเกิดจากการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15 ก.ย.48 - 10 พ.ค.54 เท่านั้น ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะเรียกร้องให้มีการคืนเงินที่ยึดมาได้ให้แก่ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม หรือคืนให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่มีข้อกังวลจากฝ่ายค้านแต่อย่างใด

ทั้งนี้เหตุที่ต้องการให้ยกเว้นโทษในคดีทางอาญาอันเกิดจากการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากมองว่าการตรวจสอบคดีดังกล่าวเกิดจากหน่วยงานหรือองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยคณะที่ทำการปฏิวัติ อีกทั้งการตรวจสอบยังมีการชี้มูลความผิดเพียงชั้นเดียวจากหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการยุติธรรมที่ต้องผ่านทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ปรองดองฯ ยังให้สิทธิที่ว่าหากภายหลังการนิรโทษกรรมแล้วมีการพิสูจน์ความผิดว่าเกิดขึ้นจริง ก็สามารถนำคดีกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติได้

อย่างไรก็ดี แม้ผู้เสนอกฎหมายทั้ง 4 คนได้ชี้แจงแล้ว แต่ตัวแทนฝ่ายประชาธิปัตย์ยังไม่เชื่อว่า พ.ร.บ.ปรองดองฯ จะไม่เข้าข่ายเป็น พ.ร.บ.ทางการเงิน จึงเรียกร้องให้เชิญตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฏีกา หรือตัวแทนจากสำนักงบประมาณมาชี้แจง ซึ่งประธานสภาฯ ได้เชิญผู้อำนวยการสำนักการประชุม ซึ่งทำหน้าที่เป็นนิติกรในการสกรีนกฎหมายต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ มาชี้แจง โดยยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับ ไม่ได้เข้าข่ายที่จะเป็น พ.ร.บ.ทางการเงินแต่อย่างใด

สำหรับเงินที่ได้ยึดทรัพย์ไว้ หากจะนำส่งคืนให้แก่ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมนั้น ก็จะไม่ใช่เป็นเพราะผลจากกฎหมายปรองดอง แต่จะต้องมีการออกกฎหมายอีกฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแสดงความคิดเห็นกันนานกว่า 5 ชั่วโมง ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนจนต้องมีการขอลงมติ ซึ่งสุดท้ายแล้ว กรรมาธิการฯ ในส่วนของฝ่ายค้านที่ไม่เชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง จะไม่เข้าข่ายเป็น พ.ร.บ.ทางการเงิน ได้วอล์คเอาท์จากห้องประชุม คงเหลือเพียงนายเชน เทือกสุบรรณ จากพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมาธิการในส่วนของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมีผลให้มติออกมาว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ได้เข้าข่าย พ.ร.บ.ทางการเงิน ด้วยคะแนนเสียง 22 ต่อ 1


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ