กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 เรื่อง หยุดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ โดยระบุว่า ร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติทั้ง 4 ฉบับ ที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นร่างกฎหมาย ไม่ได้มีเนื้อหาสาระเป็นการสร้าง “ความปรองดอง” ของคนในชาติจากความขัดแย้งของประชาชน แต่เป็นร่างกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ให้ผู้กระทำความผิดอาญาอย่างกว้างขวาง ทั้งกรณีที่เป็น “ความผิดในตัวเอง(mala inse)” และ “ความผิดซึ่งกฎหมายบัญญัติ(mala prohibita)” ซึ่งเป็นการบัญญัติกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ที่ไม่เป็นไปหลักการและประเพณีของการเสนอกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ที่ยึดถือปฏิบัติกันมาในกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศไทยและของนานาอารยประเทศ เพราะหลักการของกฎหมาย “นิรโทษกรรม” นั้น มีหลักการที่จะให้ลืมหรือเป็นเหตุยกเว้น “ความผิด”หรือยกเว้นให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับ “โทษ” เฉพาะในการกระทำความผิดที่เป็น “ความผิดที่กฎหมายบัญญัติ(mala prohibita)” เท่านั้น แต่ไม่ให้รวมถึงการก่อ “อาชญากรรม” ที่เป็น “ความผิดในตัวเอง(mala inse)” เพราะความผิดประเภทนี้ผู้กระทำความผิดย่อมทราบถึงการกระทำของตนว่าเป็นความผิดโดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายบัญญัติเนื่องด้วยการกระทำนั้นขัดต่อหลักศีลธรรมและคุณธรรมที่ดีงามที่สังคมยึดถือปฏิบัติ เป็นการเสนอร่างกฎหมายที่ทำลายคุณค่าความดีงาม หลักศีลธรรมและคุณธรรม
นอกจากนี้ กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ยังเห็นว่า ร่างกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ที่อาศัยคราบของ “ความปรองดอง” ยังมีความมีความขัดแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อย่างชัดแจ้ง และไม่เป็นไปหลัก “นิติรัฐ” ที่ยึดถือเป็นหลักการในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะไม่ให้ได้รับความเสียหาย และไม่อาจบรรจุร่างกฎหมาย “นิรโทษกรรม” เข้าสู่วาระของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการกระทำของสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรในระบอบ “เผด็จการพรรคการเมืองทุนผูกขาด”ที่พยายามครอบงำประเทศไทย โดยการทำลายหลักการสำคัญตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วยการเสนอร่างกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ทั้ง 4 ฉบับ อันเป็นทำลายหลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตยและหลัก “นิติรัฐ”ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร่างกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ทั้ง 4 ฉบับ ยังสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นทันที ไม่อาจสร้างความปรองดองได้ ดังปรากฏในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการชุมนุมคัดค้านการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของการต่อสู้ของพลังบริสุทธิ์ของประชาชนและการต่อสู้ของผู้แทนปวงชนในระบอบประชาธิปไตย กับระบอบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนผูกขาด ซึ่งครอบงำรัฐสภาของประเทศไทย
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงขอเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม ด้วยการยุติการพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ....” โดยทันที เพื่อลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งจนถึงขั้นวิกฤตของสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง