เอแบคโพลล์ชี้ปชช.ส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นร่างพ.ร.บ.ปรองดอง,อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ของแพงก่อน

ข่าวการเมือง Sunday June 3, 2012 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองแห่งชาติ กับ ความสงบร่มเย็นของสังคมไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี ลำปาง อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย หนองบัวลำภู สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น ภูเก็ต สุราษฎร์ธานีและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,258 ตัวอย่าง

ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน

ผลการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 91.9 ไม่เคยทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ ฉบับ นายนิยม วรปัญญา และคณะ ร้อยละ 90.2 ไม่เคยรับทราบรายละเอียดของร่างพ.ร.บ. ปรองดองฯ ฉบับ นายสามารถ แก้วมีชัย และคณะ ในขณะที่ร้อยละ 83.6 ไม่เคยทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ ฉบับ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อและคณะ และร้อยละ 75.4 ไม่เคยทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.2 ไม่มีความหวังต่อ ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ จะนำไปสู่ความสงบร่มเย็นของบ้านเมือง มีเพียงร้อยละ 33.8 เท่านั้นที่มีความหวัง

ที่น่าพิจารณา คือ ร้อยละ 88.9 อยากให้ฝ่ายการเมือง เร่งแก้ปัญหาปากท้อง ข้าวของแพง ก่อน การผลักดันการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ในขณะที่ ร้อยละ 11.1 อยากให้เร่งผลักดันการพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ก่อน

ผลสำรวจยังพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.0 ระบุว่า การผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทำให้ฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 20.0 ระบุประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ประโยชน์

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.7 ยังระบุด้วยว่า ความขัดแย้งบานปลายในหมู่ประชาชนที่เกิดจากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นี้ ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลมาก ถึง มากที่สุด และร้อยละ 61.3 ระบุ ความขัดแย้งบานปลายในหมู่ประชาชนที่เกิดจาก ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นี้ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำธุรกิจระดับมาก ถึง มากที่สุด

ในส่วนของการแสดงพฤติกรรมของส.ส. ที่ไม่เหมาะสมในการประชุมสภาฯ ที่ผ่านมานั้น พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.4 ระบุควรออกมาแสดงความขอโทษประชาชน ร้อยละ 40.2 ระบุควรลาออก และร้อยละ 7.4 ระบุไม่ต้องทำอะไร

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.8 ระบุความวุ่นวายในสภาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความล้าหลังและความเสื่อมในคุณภาพของ ส.ส. มาก ถึงมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ