พท.ออกแถลงการณ์เรียกร้องศาลรธน.ทบทวนการทำหน้าที่ กรณีสั่งชะลอแก้ รธน.

ข่าวการเมือง Tuesday June 5, 2012 11:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พรรคเพื่อไทย(พท.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญทบทวนการทำหน้าที่กรณีมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่....) พุทธศักราช....ในวาระที่ 3 ไว้ก่อน และเห็นว่ารัฐสภาควรเดินหน้าพิจารณาต่อไป

"พรรคเพื่อไทยเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องทบทวนการใช้อำนาจหน้าที่ของศาลในกรณีนี้ และรัฐสภาควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนต่อไป" แถลงการณ์ ระบุ

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้พิจารณากรณีคำสั่งดังกล่าวแล้วเห็นว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 มีความชัดเจนในลายลักษณ์อักษรว่า การร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 68 ต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดวินิจฉัยในเบื้องต้น หากเห็นว่ามีกรณีการกระทำตามมาตรา 68 อัยการสูงสุดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลักการนี้ปฏิบัติกันมาเช่นนี้โดยตลอด นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของมาตรา 68 ซึ่งมีความเช่นเดียวกันกับมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีความชัดเจนและได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในชั้นกรรมาธิการยกร่างว่า บุคคลไม่สามารถเสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ต้องผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กรณีตามมาตรา 68 นี้ ต้องให้อัยการสูงสุดเป็นคนกรองเรื่องเสียก่อนว่ามีมูลหรือไม่

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีความชัดเจนว่า ผู้ร้องตามที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดไว้แล้ว หลังจากนั้นก็มายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่อัยการสูงสุดยังมิได้มีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญก็มารับคำร้องไว้พิจารณาเสียก่อน จึงเป็นการบิดพลิ้ว ตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขัดต่อลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

พรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องเกินอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญมิใช่ศาลสูงสุดเหนือศาลทั้งหลาย มีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ได้มีอำนาจทั่วไปอย่างเช่นที่ศาลยุติธรรมมี การสั่งให้รัฐสภายุติการลงมติตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่....) พุทธศักราช....ในวาระที่ 3 เป็นการสั่งการโดยปราศจากอำนาจรองรับตามกฎหมาย รัฐสภาจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่ง เนื่องจากรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยหนึ่งในสามอำนาจตามที่ประชาชนมอบหมายมา ซึ่งไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรนิติบัญญัติเฉพาะที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งนั้น เช่น การตรวจสอบว่าร่างพระราชบัญญัติซึ่งมิใช่ร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ