นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันมีอำนาจในการรับพิจารณาคำร้องของ ส.ว.และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถือเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองระบอประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
"ศาลรัฐธรรมนูญแค่รับคำร้องไว้พิจารณา ทางสภาฯ จะเลื่อนไปสักเดือนเศษก็ไม่มีอะไรเสียหาย...นี่เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องที่มีการร้องอัยการสูงสุดด้วย แต่เรื่องพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินให้อัยการทำฝ่ายเดียว มันคงไม่ใช่"นายวสันต์ กล่าว
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีที่ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินขอบเขตนั้นเป็นการจินตนาการไปเอง
"กรุณาอย่าทานของเสาะท้องก่อนนอนฝัน เรารู้ตัวดีว่าเราไม่มีอำนาจนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญให้ไว้" นายวสันต์ กล่าว
ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาไต่สวนข้อเท็จในวันที่ 5-6 ก.ค.นี้ และขอยืนยันว่าการรับทั้ง 5 คำร้องไว้พิจารณาไม่ถือเป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ แม้จะทำให้กระบวนการต่างๆ ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 สะดุดลง แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนภายใต้หลักนิติรัฐ
ขณะที่นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีคำสั่งชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และ 69 ประกอบการชี้แจงว่า บุคคลมีสิทธิฟ้องหน่วยงานรัฐและมีหน้าที่ต่อต้านการได้มาซึ่งอำนาจรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยผู้ทราบการกระทำดังกล่าวสามารถยื่นคำร้องได้ 2 ช่องทาง คือ อัยการสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สำหรับ 5 คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา ได้แก่ 1.พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)และคณะ 2.นายวันธงชัย ชำนาญกิจ 3.นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ 4.นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตสมาชิกวุฒิสภา 5.นายบวร ยสินทร และคณะ