นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า นปช.ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครบ 20,000 รายชื่อแล้ว โดยจะเข้ายื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภาในช่วงบ่ายของวันนี้ (7 มิ.ย.)
อย่างไรก็ตาม นปช.จะรวบรวมรายชื่อประชาชนต่อไปให้ครบ 1 ล้านรายชื่อเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณเดือนเศษ พร้อมกันนี้จะจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในวันที่ 24 มิ.ย.55 ซึ่งเป็นวันครบรอบการพระราชทานรัฐธรรมนูญ และหากรวบรวมรายชื่อครบ 1 ล้านรายชื่อจะนำมาแถลงต่อประชาชนในงานเดียวกัน
"นปช.รู้ดีว่าถึงจะรวบรวมรายชื่อได้ครบก็คงถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ จึงต้องการแสดงให้เห็นว่าประชาชนคิดอย่างไรหากสามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนได้ถึง 1 ล้านชื่อ ก็อยากจะรู้ว่าตุลาการจะคิดอย่างไรเมื่อมีประชาชนโห่ไล่มากขนาดนั้น ส่วนวันนี้เบื้องต้นจะชุมนุมถึงเวลา 24.00 น.เนื่องจากนปช.นัดหมายชุมนุมเพื่อรวบรวมรายชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ด้วย"นางธิดา กล่าว
ในช่วงบ่าย แกนนำกลุ่ม นปช. นำโดยนางธิดา พร้อมด้วยนพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภาเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คนจาก 9 คนที่ลงมติให้ออกคำสั่งให้ชะลอการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ออกไปก่อน ซึ่ง นปช.มองว่าขัดต่อมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ โดยมีนางพรทิพย์ โล่ห์วีระ จันท์รัตนปรีดา รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เป็นผู้รับคำร้องแทน พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงว่าจะนำรายชื่อประชาชนมายื่นเพิ่มเติมให้ครบตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1-2 วันนี้
สำหรับตุลาการที่เหลืออีก 2 คนที่ไม่ถูกยื่นถอดถอนจากกลุ่ม นปช.ในครั้งนี้ ได้แก่ นายชัช ชลวร และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
นางธิดา กล่าวยืนยันว่า การยื่นถอดถอนตุลาการในครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ทำเพื่อประเทศชาติ เพราะรัฐสภาเป็นสถาบันที่ออกกฎหมาย หากถูกแทรกแซงจากฝ่ายตุลาการจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีผลประโยชน์ในเรื่องนี้เสียเอง
ด้าน นพ.เหวง กล่าวว่า การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญผิดตั้งแต่การรับคำร้องที่ไม่ได้ส่งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อมูลแล้ว ซึ่งแสดงถึงการใช้อำนาจเกินขอบเขต จึงตั้งข้อสังเกตว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องการขัดขวางการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน จึงเรียกร้องให้ตุลาการฯแสดงความรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม นปช.ไม่ได้คาดหวังว่าการยื่นครั้งนี้ถอดถอนจะสำเร็จ เพราะ ส.ว.และ ป.ป.ช.ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้ง เพียงแต่ต้องการแสดงเจตจำนงเท่านั้น ส่วนในวันที่ 24 มิ.ย. จะมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นในวาระครบรอบ 80 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากนั้นจะนำรายชื่อไปยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อถอดถอนตุลาการฯ ซึ่งน่าจะง่ายกว่า