นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ว่าอาจมีการลักไก่เสนอให้ลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 13-14 มิ.ย.ก็อาจมีการหยิบยกร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ขึ้นมาพิจารณา แม้ไม่ได้มีการบรรจุไว้ในวาระการประชุมก็ตาม
ในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้จะมีการอภิปรายความเห็นต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ชะลอการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ออกไปก่อน ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากวันศุกร์ที่ 8 มิ.ย. แต่ก็ได้ทราบมาว่าจะมีสมาชิกรัฐสภาเสนอให้ลงมติเรื่องที่จะมีการรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และมีความเป็นไปได้ที่จะเสนอให้ลงมติวาระ 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย แม้ในวาระการประชุมจะไม่มีระบุไว้ก็ตาม
ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามระเบียบวาระที่แจ้งกับสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้โปร่งใส เกิดการยอมรับของสมาชิก จะได้ไม่เกิดปัญหาระหว่างการประชุม แต่ถ้าปล่อยให้มีการลักไก่ใช้เสียงข้างมากลงมติวาระ 3 แก้ รธน. เชื่อว่าการประชุมสภาไม่ราบรื่น และประธานรัฐสภาต้องรับผิดชอบ
ส่วนการประชุมสภาฯ วันที่ 13-14 มิ.ย. กำหนดเรื่องด่วนไว้ว่าเป็นการประชุมพิเศษเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฟอกเงิน และ ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย แต่ก็ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ จึงไม่มีในวาระการประชุม เพราะปกติเรื่องที่ถูกเลื่อนมาจะต้องอยู่วาระแรก หากจะนำเรื่องอื่นมาพิจารณาตามอำนาจประธาน แต่จะเปลี่ยนแปลงวาระแรกไม่ได้
"เป็นเรื่องผิดปกติ แม้ประธานสภาฯจะต้องการแสดงความจริงใจว่าจะไม่ให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ หรือ ประธานสภาฯอาจกำลังมีพฤติกรรมลับ ลวง พราง โดยไม่บรรจุ ร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯ ที่เลื่อนมาเป็นวาระแรก เพื่อให้ทุกฝ่ายที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตายใจ เนื่องจากไม่มีในเอกสารแจ้งให้ส.ส.ประชุมว่าจะมีระเบียบวาระ"นายองอาจ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ร่างพ.ร.บ.ปรองดองจะไม่มีในเอกสารเชิญประชุม แต่เมื่อเรื่องนี้ถูกเลื่อนขึ้นมาแล้ว ส.ส.มีสิทธิเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพื่อหยิบยกขึ้นมาระหว่างการประชุมสภาฯ จึงเชื่อว่าเรื่องนี้มีลับลมคมนัยแน่นอน และเชื่อว่าประธานสภากำลังมีพฤติกรรมไม่โปร่งใส
"พรรคประชาธิปัตย์ยังยืนยันว่า หากไม่ต้องการให้เกิดวิกฤตในบ้านเมืองการออกกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภาจะบรรเทาวิกฤตได้ และใช้ช่วงเวลาปิดสมัยประชุมหาทางออกให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันในการแสวงหาทางออกให้กับบ้านเมือง ตามแนวทางของ คอป. สถาบันพระปกเกล้าว่าการปรองดองต้องเกิดจากการเห็นพ้องต้องกันของสังคม ไม่ใช้เสียงข้างมากตัดสิน" นายองอาจ กล่าว