นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า สหรัฐจะทำการยกเว้นรายชื่อ 7 ประเทศ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้และตุรกี ออกจากมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่าน หลังประเทศเหล่านี้ลดการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านลงเป็นจำนวนมาก
นางคลินตันเผยรายชื่อ 7 ประเทศเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย อินเดีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ ศรีลังกา ตุรกีและใต้หวัน พร้อมกล่าวต่ออีกว่า มติยกเลิกรายชื่อมีขึ้นหลังประเทศเหล่านี้ได้ลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากประเทศเศรษฐกิจทั้ง 7 แล้ว ยังมีอีก 11 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและบางประเทศในยุโรป เข้าอยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นเมื่อเดือนมีนาคม
นางคลินตันกล่าวว่า การคว่ำบาตรเป็นการปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านจัดหาอาวุธนิวเคลียร์และเป็นการบังคับให้อิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงที่ประเทศให้ไว้กับนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายระบุยกเว้นบริษัทจากประเทศที่มีการลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านลงเป็นจำนวนมาก
“การประกาศในวันนี้ชี้ให้เห็นว่าการประกาศคว่ำบาตรประสบความสำเร็จ" นางคลินตันกล่าว
“การลดปริมาณการขายน้ำมันจากอิหร่าน เป็นการส่งสัญญาณให้กับผู้นำอิหร่านว่า หากอิหร่านไม่มีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อสนองเจตนารมณ์ของประชาคมนานาชาติ อิหร่านก็จะยังคงถูกโดดเดี่ยวและได้รับการกดดันมากขึ้น" นางคลินตันกล่าว
นางคลินตันกล่าวย้ำว่า สหรัฐมีพันธสัญญาต่อ “นโยบายคู่ขนาน" ซึ่งเป็นการดำเนินงานสองด้านคือการฑูตและการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน
“อิหร่านมีโอกาสที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ พร้อมกับมาตรการที่ชัดเจนในที่ประชุมครั้งต่อไปในกรุงมอสโก" นางคลินตันกล่าว ซึ่งอ้างถึงการประชุมนิวเคลียร์รอบใหม่ระหว่างอิหร่านกับประเทศมหาอำนาจทั้ง 6 คือ รัสเซีย จีน สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน สำนักข่าวซินหัวรายงาน