น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างทีโออาร์ ตามที่คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(กนอช.)เสนอ ในการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนทั้งต่างประเทศและในประเทศเข้ามาเสนอแผนและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมครม.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาในรายละเอียดของข้อกฎหมาย ตลอดจนกฎระเบียบต่างๆ แล้วนำกลับมาเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้กำหนดเงื่อนไข ตลอดจนคุณสมบัติของบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาร่วมแข่งขันตามทีโออาร์ดังกล่าวว่า จะต้องเป็นบริษัทที่เคยดำเนินโครงการขนาดใหญ่มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทมาแล้วภายในเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนรายละเอียดต่างๆ จะเป็นไปตามที่ กนอช.เสนอ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติร่างทีโออาร์ เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เสนอแผนจัดระบบบริหารจัดการน้ำ โดยใช้เม็ดเงินจากงบประมาณ 3 แสนล้านบาทมาดำเนินการ ซึ่งจะคัดเลือกให้เหลือ 3 กลุ่มบริษัท โดยบริษัทที่จะได้รับการคัดเลือกต้องมีคุณสมบัติใน 14 เรื่อง อาทิ ความเชียวชาญในระบบชลประทาน การเตือนภัย เทคโนโลยี และด้านกฏหมาย ซึ่งตัวแทนคัดเลือกมาจาก คณะกรรมการ กบอ.ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ
อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปีหน้า โดยรัฐบาลจะประกาศรับสมัครภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นให้เวลา 3 เดือนในการเสนอแผน และใช้เวลาอีก 1 เดือนในการคัดเลือกบริษัทต่อไป