รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ขอมติที่ประชุมรัฐสภาหลังจากมี สว.เสนอให้ลงมติว่าที่ประชุมฯ จะเห็นด้วยหรือไม่ว่า คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ชะลอการลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภาหรือไม่
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้ทักท้วงว่า รัฐสภาโดยเฉพาะที่ประชุมร่วมรัฐสภามีอำนาจตามขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น เรื่องใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องเข้าข่ายมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะพิจารณาไม่ได้ ส่วนเรื่องใดเป็นอำนาจของที่ประชุมฯ ร่วม แต่กฎหมายอนุญาตให้พิจารณาญัตตินั้นได้ ดังนั้นการที่เสนอญัตติเพื่อให้ตีความว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการผูกพันต่อรัฐสภาหรือไม่ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของนิติบัญัตติ และถ้ายังมีการพิจารณาเรื่องนี้ ก็เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ และถ้าพิจารณาเรื่องนี้ในสมัยนิติบัญญัตติก็เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยขอใช้ดุลพินิจตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ในมาตรา 136(5) เชื่อมโยงถึง 127 วรรค 4 โดยมาตรา 136 ได้ระบุเงื่อนไขการประชุมรัฐสภาในกรณีต่างๆ โดย (5)ระบุว่า การมีมติให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้
ทั้งนี้นายสมศักดิ์ได้กดออดขอมติถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกคือ ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นชอบหรือไม่ ให้นำเรื่องอื่น(คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ) มาพิจารณาได้ในสมัยประชุมนิติบัญญัติ ก่อนขอมตินายสมศักดิ์ได้เช็คองค์ประชุม โดยขานผลคะแนนว่า ที่ประชุมรัฐสภามีสมาชิก 644 คน ต้องได้ 322 เสียงถึงจะครบองค์ประชุม ปรากฎว่า มีเสียง 323 เสียง เมื่อเข้าสู่ขั้นตอน ลงมติว่าให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นได้หรือไม่ตามมาตรา 136(5)ปรากฎว่า มีคะแนน 318 ไม่เห็นด้วย 2 ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่ง นายสมศักดิ์ จึงแจ้งว่า รัฐสภาไม่อนุญาต
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ผลการลงมติครั้งนี้ที่คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถขอมติจุดยืนของรัฐสภาต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญตามที่ประธานรัฐสภาและพรรคเพื่อไทยจะขอให้มีมติ จากนั้นนายสมศักดิ์ได้หยิบยกวาระเรื่องที่ ครม.เสนอให้พิจารณากรอบข้อตกลงตามมาตรา 190 มาพิจารณา