นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาการทำคำชี้แจงถึงศาลรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็น หลังจากที่มีผู้ยื่นคำร้องว่าการดำเนินการของ ครม.ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ โดย ครม.จะยืนยันว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามบทบัญญัติในขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ และคาดว่าจะยื่นคำชี้แจงนี้ให้กับศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในวันที่ 15 มิ.ย.
สำหรับ 4 ประเด็นหลักที่ชี้แจง ประกอบด้วย ประเด็นแรก การแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในข้อบังคับของ มาตรา 68 หรือไม่นั้น ครม.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบทบัญญัติของมาตรา 68 ที่ห้ามการกระทำใดที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือใช้อำนาจของรัฐโดยไม่ถูกต้องนั้น มีความหมายว่าจะต้องเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญโดยตรง หรือเป็นการกระทำที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้การรับรองไว้ แต่สิ่งที่ ครม.ได้ดำเนินการไป คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ให้ ครม.สามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นจึงเป็นการดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีอยู่ แต่เมื่อเสนอไปแล้วรัฐสภาจะพิจารณาอย่างไรนั้น เป็นอำนาจของรัฐสภา
"จะสังเกตได้ว่าร่าง(รัฐธรรมนูญ)ที่คณะรัฐมนตรีเสนอเข้าไป สภาได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น และมีการแก้ไขอีกหลายประเด็น เพราะฉะนั้นร่างที่มีอยู่ขณะนี้ ถือว่าเป็นร่างของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาจะมีอำนาจพิจารณาต่อไปตามบทบัญญัติในมาตรา 291 จนจบ ดังนั้นประเด็นที่ว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 68 นั้น คณะรัฐมนตรีจึงเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกัน รัฐบาลดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกประการ"นายอัชพร กล่าว
ส่วนประเด็นที่สอง ในด้านของเนื้อหา ชี้แจงว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ยังไม่ได้แตะต้องบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราใดเลย แต่เป็นการเสนอให้เพียงมีสภาร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญต่อไป ส่วนเนื้อหาก็ยังมีในบทบัญญัติ มาตรา 291/11 ด้วยว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
"เพราะฉะนั้นก็เป็นหลักประกันได้ว่า เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดทำต่อไปนั้นจะไปกระทำการที่มีผลกระทบต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ ถ้ามีการกระทำ ร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะตกไป" นายอัชพร ระบุ
ประเด็นที่สาม จากที่มีการกล่าวอ้างว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะมีผลทำให้ ครม.สามารถควบคุมการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ต้องการได้นั้น ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เสนอให้มี สสร.นั้น ได้กำหนดให้ สสร.มาจากตัวแทนของ 2 ฝ่ายคือ 77 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอีก 22 คนมาจากการเสนอชื่อของสถาบันการศึกษา, องค์กรเอกชนที่คัดเลือกและนำเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบ
ทั้งนี้ จากจำนวนของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.นั้น จะเห็นได้ว่าคะแนนเสียงของรัฐบาลมีไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ดังนั้น การสรรหา สสร.จึงไม่เกี่ยวข้องกับเหตุที่จะทำให้รัฐบาลสามารถไปดำเนินการใดๆได้ เพราะเมื่อมี สสร.แล้ว สสร.จะต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และจะกระทำการที่กระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ซึ่งในท้ายสุดเมื่อร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้นก็จะไปทำประชามติให้ประชาชนทั้งประเทศให้ความเห็นชอบ
"ในแต่ละขั้นตอนกระบวนการคณะรัฐมนตรีจะไม่มีโอกาสเข้าไปแทรกแซงหรือดำเนินการสิ่งใดตามที่มีการกล่าวอ้างกันได้เลย เพราะเจตจำนงค์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องการคืนอำนาจให้ประชาชนทั้งหมด ได้มีโอกาสกำหนดหลักเกณฑ์การปกครองประเทศขึ้นเอง ภายใต้ภาวะที่เป็นประชาธิปไตย" นายอัชพร กล่าว
ส่วนประเด็นที่สี่ ที่มีการกล่าวอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดกับมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญนั้น ได้ชี้แจงว่ามาตรา 291 ให้มีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งการเสนอครั้งนี้เป็นการเสนอตามมาตรา 291 โดยผ่านกระบวนการทุกอย่าง แต่เนื่องจากการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเพิ่มบทบัญญัติขึ้นอีกหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่า ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่าน บทบัญญัติเหล่านี้ก็จะบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบทบัญญัติอื่นๆ ซึ่งโดยปกติแล้วรัฐธรรมนูญไม่สามารถจะขัดแย้งก้นเองได้ เมื่อเข้าไปเป็นบทบัญญัติหนึ่งของรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นบทบัญญัติที่มีผลบังคับใช้เช่นเดียวกัน
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ดังนั้นสิ่งที่กล่าวอ้างกันนั้น ครม.เห็นว่าควรชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการดำเนินการของรัฐบาลทำภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกประการ มิได้มีข้อขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และ ครม.เห็นควรยืนยันให้ดำเนินการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป ส่วนการลงมติจะเป็นเมื่อใดนั้นให้อยู่ที่อำนาจของรัฐสภา ซึ่ง ครม.ไม่มีอำนาจไปก้าวล่วง