"จาตุรนต์"ชี้ศาลรธน.แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ ทำตัวเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง

ข่าวการเมือง Sunday June 10, 2012 13:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวในการเสวนาเรื่อง "ตุลาการภิวัฒน์ หรือรัฐประหารบนบัลลังก์ศาล"ว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งผ่านเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้แจ้งต่อประธานรัฐสภาให้ชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 มีข้อสังเกตว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากเมื่อปี 2549 ศาลรัฐธรรมนูญเคยยกคำร้องกรณีที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ยื่นคำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอให้มีการใช้มาตรา 7 โดยชี้แจงว่านายสุรพงษ์ไม่มีสิทธิยื่นเรื่องตรงมาที่ศาล แต่ต้องเสนอให้อัยการสูงสุดสอบสวนและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การตีความมาตรา 68 ที่ผิดไปจากรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญนั้น กำลังทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศไปแล้ว ทั้งที่ศาลไม่มีสิทธิสั่งรัฐสภาได้ และอำนาจในการบัญญัติและพิจารณารัฐธรรมนูญก็อยู่ที่รัฐสภาเท่านั้น แต่ศาลกลับใช้รัฐธรรมนูญตามอำเภอใจโดยไม่ยึดถือตามหลัก

สิ่งที่เป็นอันตรายคือ เมื่อศาลก้าวเข้ามาตรวจสอบกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว จะตามมาด้วยการยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าผิดกฎหมาย อันจะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองและถอดถอนคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้ไม่มีคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศ และจะนำไปสู่การใช้มาตรา 7 เพื่อจัดตั้งรัฐบาล อันเป็นการกระทำที่ผิดหลักนิติธรรม และจะก่อให้เกิดวิกฤตในประเทศอย่างรุนแรง

นายจาตุรนต์ แสดงความเป็นห่วงว่าเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่หยุดการแทรกแซงรัฐสภา เพราะไม่รู้ว่าศาลจะรัฐธรรมนูญดึงดันไปถึงขั้นไหน ส่วนวิธีการที่จะควบคุมศาลไม่ให้ก้าวล้ำเส้นเข้ามานั้นอาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะศาลมีเครื่องมือหลายอย่างที่เป็นเกราะกำบัง ทั้ง ป.ป.ช.ที่ศาลเป็นผู้แต่งตั้ง หรือจะใช้เสียงของวุฒิสภาในการถอดถอน แต่วุฒิสมาชิกส่วนหนึ่งก็มาจากการแต่งตั้งและคงจะไม่ร่วมมือด้วย หรือหากจะแต่งตั้ง ป.ป.ช.ขึ้นใหม่ อำนาจในการแต่งตั้งก็ยังเป็นของศาลอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พอจะเป็นไปได้ก็คือ หากเกิดการยุบพรรคหรือถอดถอนรัฐบาลขึ้นจริง ประชาชนต้องเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง จากนั้นพรรคการเมืองจะต้องขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยค่อยๆ ปรับแก้ในจุดที่เป็นปัญหาต่อการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน เมื่อแก้ไขได้แล้วจึงเดินหน้าต่อไปสู่การตั้ง สสร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ให้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นแล้วจะไม่มีใครสามารถมาขัดขวางได้ และถ้าประชาชนเห็นว่าการมีองค์กรอิสระบางอย่างไม่ได้มีผลประโยชน์ต่อประชาชนจริงก็จะยกเลิกไปเสียก็ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ