In Focusลุ้นระทึกไฟท์ล้างตาเลือกตั้งกรีซ...ศึกนี้เดิมพันสูง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 13, 2012 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ทุกสายตาคงจะต้องจับจ้องไปที่กรีซ ซึ่งจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น นั่นก็คือการเลือกตั้งรอบใหม่ เหตุการณ์นี้นับว่ามีความสำคัญไม่เพียงแต่สำหรับเศรษฐกิจกรีซเอง หรือยูโรโซน แต่ยังหมายรวมถึงเศรษฐกิจโลก เนื่องจากจะเป็นการชี้ชะตาว่า กรีซจะอยู่หรือหลุดวงโคจรของยูโรโซน และยังเป็นการกำหนดอนาคตของสหภาพทางการเงินของภูมิภาคยุโรป รวมทั้งประเทศสมาชิกรายอื่นๆอีก 16 ประเทศด้วย และทั้งหมดทั้งมวลที่จะเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งของกรีซในช่วงสุดสัปดาห์นี้ จะขึ้นอยู่กับประชาชนชาวกรีซที่จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกทางเดินของตัวเองและของประเทศ...

ความไม่ลงรอยทางการเมือง..สู่ความร้าวลึกทางเศรษฐกิจ

หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ปรากฏผลออกมาว่า ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากพอที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น การหารือระหว่างผู้นำพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากลำดับตั้นๆเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ก็ประสบกับความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลรักษาการเมื่อกลางเดือนพ.ค. พร้อมทั้งกำหนดวันเลือกตั้งรอบใหม่ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ค.นั้น จากจำนวนทั้งหมด 300 ที่นั่ง พรรคนิว เดโมเครซี ครองที่นั่งมากที่สุด 108 ที่นั่ง พรรค Syriza ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายจัด ได้ 52 ที่นั่ง ส่วนพรรค Pasok รั้งอันดับ 3 ด้วย 41 ที่นั่ง

ประเด็นหลักที่ทำให้พรรคการเมืองต่างๆไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ก็คือความเห็นต่างเกี่ยวกับข้อตกลงรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องมีเงื่อนไขเป็นข้อผูกมัดเพื่อแลกกับเงินกู้ ที่จะช่วยให้กรีซสามารถนำไปใช้จ่าย ชำระหนี้สินเพื่อรอดพ้นจากภาวะผิดนัดชำระหนี้

พรรคนิว เดโมเครซี ภายใต้การนำของนายอันโตนิส ซามาราส เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมของกรีซที่สนับสนุนมาตรการรัดเข็มขัดตามเงื่อนไขในการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ขณะที่พรรค Syriza เป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่มีนายอเล็กซิส ซิปราส เป็นหัวหน้าพรรค โดยเป็นพรรคที่มีความเห็นต่างอย่างรุนแรงในการคัดค้านแผนรัดเข็มขัดตามข้อตกลงที่รัฐบาลชุดก่อนได้ทำไว้ ส่วนพรรค Pasok เป็นพรรคสังคมนิยมที่มีนายอีแวนเจลอส เวนิเซลอส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกรีซ นั่งแท่นเป็นผู้นำพรรค โดยพรรค Pasok สนับสนุนการควบคุมรายจ่ายและปรับลดงบประมาณตามข้อตกลงเงินกู้ที่ทำไว้กับนานาประเทศ

“แผนสำรอง" มาแรง หลังกรีซหลุดยูโรโซนไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ภายหลังการประกาศวันเลือกตั้งครั้งใหม่ การที่กรีซจะออกจากยูโรโซนดูจะไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไป และกระแสการคาดการณ์ในเรื่องนี้แพร่กระจายไปมากขึ้น เพราะคล้อยหลังไปเพียง 1 สัปดาห์ ในวันที่ 23 พ.ค.บรรดาผู้นำยูโรโซนได้ประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหารือประเด็นวิกฤตหนี้ภูมิภาค โดยพุ่งเป้าไปที่สถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของกรีซ ถึงแม้ผลการหารือจะไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม แต่ก็มีกระแสข่าวการจัดทำแผนสำรองเพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากกรีซต้องออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน ขณะที่กระทรวงการคลังของกรีซระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่าข่าวดังกล่าวไม่มีมูลความจริง และเป็นการบั่นทอนความพยายามของกรีซในการรับมือกับความท้าทายต่างๆที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่

ทางด้านนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้กล่าวเตือนหลังจากที่กรีซประกาศจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ว่า จากการประเมินทางเทคนิคเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่กรีซจะออกจากยูโรโซนนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมาก ซึ่งไม่เพียงแต่กรีซเท่านั้น แต่ยังจะกระทบยูโรโซนและทั่วโลกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการจัดทำ “แผนสำรอง" นั้นมีขึ้นไม่เฉพาะแต่ในระดับองค์กรของรัฐบาลหรือระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคเอกชนด้วย โดยก่อนหน้าการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปเพียงไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเอชเอสบีซี โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปเปิดเผยว่า ทางธนาคารได้จัดทำแผนสำรองสำหรับสาขา 15 แห่งในกรีซแล้ว ในกรณีที่กรีซถอนตัวจากการใช้เงินยูโร และหันกลับมาใช้เงินดราชมา ซึ่งเป็นสกุลเงินดั้งเดิมของกรีซที่หยุดใช้มา 11 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นที่มีต่อสถานภาพของกรีซในสหภาพการเงินยุโรป

ส่วนซีอีโอตลาดประกันภัยของอังกฤษอย่างลอยด์ส ออฟ ลอนดอน ได้เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ซันเดย์ เทเลกราฟว่า บริษัทอยู่ระหว่างจัดเตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือหากกรีซออกจากยูโรโซนหรือในกรณีที่มีความเป็นไปได้ว่า ยูโรโซนจะล่มสลาย โดยได้วางแผนการปรับลดสัดส่วนการลงทุนในภูมิภาคดังกล่าวลงเท่าที่จะทำได้

ผลโพลล์ที่ยังพลิกผัน

ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งของกรีซจากหลายสำนักมีออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยพรรคนิว เดโมเครซี และพรรค Syriza ต่างก็มีคะแนนสูสีกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะชนิดที่หายใจรดต้นคอกันเลยทีเดียว ในช่วงหลังจากที่มีการประกาศการเลือกตั้งรอบใหม่ได้ไม่นาน กระแสชาตินิยม รักชาติ ไม่ต้องการพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกดูเหมือนจะมาแรงอย่างฉุดไม่อยู่ เพราะผลโพลล์หลายต่อหลายครั้งชี้ให้เห็นว่า พรรคที่ต่อต้านการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงรับความช่วยเหลือทางการเงินอย่างพรรค Syriza มีคะแนนนำคู่แข่งอย่างพรรคนิว เดโมเครซีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพรรค Syriza คว้าชัยในการเลือกตั้งรอบนี้ ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่กรีซจะออกจากยูโรโซน ขณะที่นายซิปราส ผู้นำพรรค Syriza กล่าวยืนยันในการปราศรัยกับกลุ่มผู้สนับสนุนที่กรุงเอเธนส์เมื่อต้นเดือนมิ.ย.ว่า จะยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัด หากพรรคของเขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งรอบใหม่

แต่หลังจากที่บรรดาผู้นำระดับประเทศและองค์กรที่สำคัญๆต่างๆ รวมทั้งนักวิเคราะห์ทั่วโลกออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงวิตกกังวลกับผลเสียที่กรีซต้องออกจากยูโรโซน โดยธนาคารเนชันแนล แบงก์ ออฟ กรีซ (NBG) เปิดเผยผลสำรวจที่คาดว่า ชาวกรีซจะสูญเสียรายได้ปัจจุบันต่อหัวประมาณ 55% และเศรษฐกิจกรีซจะถดถอยลงกว่า 22% หากกรีซออกจากยูโรโซน โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าอัตราการว่างงานมีโอกาสที่จะพุ่งสูงขึ้นแตะ 34% และอัตราเงินเฟ้ออาจสูงถึง 30% และแม้แต่นายลูคัส ปาปาเดมอส อดีตนายกรัฐมนตรีของกรีซเอง ก็ยังออกโรงเตือนว่าเงินคงคลังของกรีซอาจหมดลงก่อนสิ้นเดือนมิ.ย. หากกรีซต้องออกจากยูโรโซนจนนานาประเทศพากันตัดความช่วยเหลือ ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่จะก่อให้เกิดหายนะที่รุนแรงต่อประเทศ บรรดาผู้มิสิทธิเลือกตั้งชาวกรีซจึงเริ่มไม่แน่ใจในสถานภาพและอนาคตของประเทศตนเองว่าจะสามารถอยู่รอดหรือไม่ หากกรีซต้องกระเด็นออกจากยูโรโซนจริงๆ เพราะชาวกรีซต้องตระหนักอย่างถี่ถ้วนว่าประเทศของตนมีความพร้อมหรือยังที่จะกลับไปใช้สกุลเงินเดิม เนื่องจากปัจจุบันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าฐานะการเงินของกรีซมีความเข้มแข็งมากพอที่จะรองรับผลที่จะเกิดขึ้นจากการเลิกใช้สกุลเงินยูโร โดยผลสำรวจความคิดเห็นในช่วงเวลาต่อมาแสดงให้เห็นว่า พรรคนิวเดโมเครซีพลิกกลับมามีคะแนนนำเหนือพรรคคู่แข่ง

ค้านเงื่อนไขเงินกู้ แต่ยังอยากอยู่ในยูโรโซน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวกรีซส่วนใหญ่จะคัดค้านเงื่อนไขในข้อตกลงเพื่อรับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันประชาชนกว่า 80% ก็ยังต้องการที่จะอยู่ในยูโรโซนต่อไป ซึ่งประเทศสมาชิกยูโรโซนต่างออกมาเตือนว่าเป็นไปไม่ได้ที่กรีซจะได้ทั้งสองอย่างพร้อมกัน เพราะถ้ากรีซไม่ยอมใช้มาตรการรัดเข็มขัดและปรับลดรายจ่ายตามเงื่อนไขกับเจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศ กรีซก็ต้องเก็บกระเป๋าออกจากบ้านหลังที่ชื่อว่ายูโรโซน และกลับไปใช้สกุลเงินดั้งเดิมของตน แต่หากต้องการจะเป็นสมาชิกที่มีสิทธิใช้สกุลเงินยูโรต่อไป ก็ต้องเดินหน้าแผนลดรายจ่ายและปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ เพราะตอนนี้กรีซก็คือลูกหนี้รายหนึ่งที่ให้สัญญาว่าทำได้ทุกอย่างตอนที่จะขอกู้ยืมเงิน แต่เมื่อได้รับเงินกู้แล้ว ประเทศเผชิญภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจจากการขาดวินัยทางการคลัง กรีซกลับออกมาบอกง่ายๆว่าจะยกเลิกข้อตกลงเดิมที่ทำไว้

ล่าสุดในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อระหว่างประเทศ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสระบุว่า การออกจากยูโรโซนของกรีซอาจก่อความเสี่ยงต่อการดำรงอยู่ต่อไปของยูโร โดยระบุว่ามูดี้ส์จะต้องทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศสมาชิกยูโรโซนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงประเทศที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสูงสุดที่ AAA ด้วย

การเลือกตั้งของกรีซในวันที่ 17 มิ.ย.นี้เป็นปัจจัยที่ตลาดทั่วโลกมองว่า ยังมีความไม่แน่นอนและยังไม่มีใครกล้าฟันธงถึงผลการเลือกตั้งที่จะออกมา เพราะถึงแม้ว่าพรรคนิว เดโมเครซีจะชนะการเลือกตั้งและได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงจากการที่ทางพรรคได้รณรงค์หาเสียงไว้ว่าจะขอเจรจาผ่อนคลายเงื่อนไขบางประการของข้อตกลงช่วยเหลือทางการเงินกับเจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อชาวกรีซที่ต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากจากการที่เศรษฐกิจของประเทศประสบกับภาวะถดถอยมาล่วงเข้าปีที่ 5 แล้ว

ดอยช์ แบงก์เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ที่ระบุว่า ตลาดยังไม่ได้ปรับตัวรับอย่างเต็มที่กับความเป็นไปได้ที่กรีซจะออกจากยูโรโซน รวมทั้งไม่แน่ใจเกี่ยวกับการร่วงลงของยูโรเมื่อเทียบดอลลาร์ จากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยรายงานระบุว่า บรรดานักลงทุนยังเชื่อว่ามีโอกาสอย่างมากที่กรีซจะยังคงอยู่ในยูโรโซน พร้อมกันนี้ ดอยช์ แบงก์ได้ให้น้ำหนักกับพรรคนิวเดโมเครซีว่ามีแนวโน้มมากที่สุดถึง 45% ที่จะชนะการเลือกตั้งในกลางเดือนนี้ แม้ระบุว่ามีโอกาส 24% ที่กรีซจะออกจากสหภาพการเงินและจะส่งผลให้เกิดผลกระทบทางการเงินทั่วโลก นอกจากนี้ ดอยช์ แบงก์ยังเชื่อว่าแม้ว่า Syriza ชนะการเลือกตั้ง ก็มีความเป็นไปได้ 25% ที่กรีซจะยังคงอยู่ในยูโรโซนต่อไป

ในขณะนี้ บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนทั่วโลกเริ่มทำใจรับในระดับหนึ่ง หากกรีซต้องโบกมือลายูโรโซนจริงๆ แต่ก็ยังไม่วายแอบหวังว่าชาวกรีซจะตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นผลดีต่อกรีซเอง เศรษฐกิจยูโรโซน และเศรษฐกิจโลกโดยรวม และเชื่อว่าผู้นำชาติสมาชิกยูโรโซนและทั่วโลกจะร่วมมือกันหาทางออกที่เสียหายน้อยที่สุดต่อวิกฤตหนี้และการเมืองของกรีซ ซึ่งอาจจะต้องรอให้ผลการเลือกตั้งของกรีซมีความชัดเจนออกมาเสียก่อน และเราคงจะต้องจับตาเหตุการณ์สำคัญในช่วงสุดสัปดาห์นี้อย่างเอาใจช่วยกันเต็มที่ เพราะศึกเลือกตั้งครั้งนี้ นับว่ามีเดิมพันที่สูงอย่างประเมินค่ามิได้!!!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ