พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวว่า หากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกรณีที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ(นาซ่า)ขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานปฏิบัติการ โครงการ"การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ" และโครงการ"การศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศ"ว่าเข้าข่ายมาตรา 190 คณะรัฐมนตรีก็จะต้องรอก็จะต้องรอการพิจารณาของรัฐสภา
ขณะเดียวกันย้ำว่า หน่วยงานความมั่นคงได้พิจารณาตรวจสอบอย่างรอบคอบแล้วในการอนุญาตให้องค์การนาซ่าใช้สถานที่ ซึ่งไม่พบว่ามีการใช้อาวุธที่มีแสนยานุภาพร้ายแรง มีเพียงเครื่องบินและเครื่องมือตรวจสอบสภาพอากาศ อีกทั้งประเทศไทยยังสามารถส่งคนเข้าร่วมได้ทุกขั้นตอน และมองว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากกว่าความเสี่ยงด้านความมั่นคง
ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศขององค์การนาซ่าเป็นโครงการที่เริ่มในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยตรง เพราะเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การนาซากับองค์การบริหารอวกาศของประเทศไทย(จีสด้า)ในการสำรวจเมฆและฝุ่นละอองในระยะสูงที่ไทยยังไม่มีเครื่องมือ ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 เดือน หากสามารถทำได้จะเป็นประโยชน์เรื่องการคำนวณปริมาณน้ำฝน และป้องกันน้ำท่วม โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กรมฝนหลวง และหน่วยงานทางวิชาการของไทยจะร่วมสำรวจด้วย
โครงการนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งตนเองเป็นประธาน และมีผู้แทนกองทัพ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศร่วมเป็นกรรมการ และขอยืนยันว่าจะไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านจะยื่นถอดถอนรัฐบาลหากไม่นำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาลงมติในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 นั้น นายปลอดประสพ กล่าวว่า การพิจารณาว่าโครงการนี้จะเข้ามาตรา 190 ในวรรค 1 หรือวรรค 2 หรือไม่ต้องให้ฝ่ายกฎหมายตีความ ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรียังไม่พิจารณาอนุมัติและฝ่ายกฎหมายยังไม่ตีความเลย จึงมองว่าฝ่ายค้านกำลังหาเรื่องรัฐบาล