นายอัศวัชร์ อภัยวงศ์ ที่ปรึกษาฯ และนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พร้อมด้วยนายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(เคที) ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.) เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่โปร่งใสในการทำสัญญาว่าจ้างเดินรถกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี ในระยะเวลา 30 ปี โดยมีนายกรณินทร์ กาญจโนมัย คณะทำงานของนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือแทน
นายอัศวัชร์ กล่าวว่า นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานคณะกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรม และหนังสือชี้แจงให้ กคพ.ประกอบการพิจารณาในการจะรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวหาทางเคทีและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร(กทม.) ว่ามีความไม่โปร่งใส โดยอ้างข้อมูลที่เลื่อนลอยและมีเจตนาแอบแฝง เพื่อหวังผลทางการเมือง รวมถึงได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)แล้ว แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กลับระบุว่ารับเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการสอบสวน ทั้งที่รู้ดีว่าอยู่นอกอำนาจการสอบสวนของดีเอสไอ
นายอัศวัชร์ กล่าวว่า เพราะผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ กทม.ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 66 ดีเอสไอจึงต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเท่านั้น อีกทั้งดีเอสไอยังออกมาให้ข่าวหลายครั้งในลักษณะชี้นำว่าผู้บริหารของ กทม.ทำผิดกฎหมาย ทั้งที่ทางเคทีดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถตรวจสอบได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอัศวัชร์ และคณะได้แจกหนังสือของบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ชื่อว่า "เรื่องจริงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สัญญา 30 ปี" ให้กับผู้สื่อข่าวโดยมีเนื้อหา 151 หน้า เนื้อหาของหนังสือดังกล่าวเป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการนี้ และตอบข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ รวมถึงให้ข้อมูลเชิงลึกด้านกฎหมายและการเงิน