เอแบคโพลล์เผยความสุขมวลรวมของคนไทยในเดือน มิ.ย.ลดลงจากปัญหาสังคมเสื่อม

ข่าวการเมือง Sunday July 1, 2012 08:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจความสุขมวลรวมของคนไทยในเดือน มิ.ย.55 คนส่วนใหญ่มีความสุขลดลงจากช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยประเด็นที่มีผลบั่นทอนความสุขมาจากปัญหาสังคมเสื่อม ขาดจริยธรรม ขาดความรักความเกื้อกูล ขัดแย้งแตกแยกวุ่นวาย มากกว่าปัญหาปากท้องและค่าครองชีพ

" คนจำนวนมากคือร้อยละ 39.7 มีความสุขลดลงจากช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีร้อยละ 47.9 สุขเหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 12.4 เท่านั้นที่มีความสุขเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า คนในประเทศเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่มีความสุขเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลสำรวจที่ไม่แตกต่างไปจากอดีตในการทำงานของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ ระบุ

โดยประเด็นที่เป็นปัญหาบั่นทอนความสุข อันดับแรกร้อยละ 68.1 เป็นปัญหาสังคมเสื่อม ขาดจริยธรรม ขาดความรักความเกื้อกูล ขัดแย้งแตกแยกวุ่นวายของคนไทย รองลงมาร้อยละ 67.0 เป็นปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ อันดับสามร้อยละ 63.3 เป็นนักการเมืองเอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ขัดแย้งแก่งแย่งกัน มีอำนาจแล้วลืมประชาชน อันดับสี่ร้อยละ 51.1 เป็นระบบราชการไร้ประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมทำงาน ไม่จริงใจ ไม่บริการประชาชน และอันดับห้าร้อยละ 50.7 เป็นสื่อมวลชน

" รัฐบาลต้องไม่ลืมปัญหาสังคมต้องไม่มุ่งเน้นแต่เฉพาะปัญหาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพราะปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจำเป็นต้องให้ความสำคัญไม่แตกต่างกัน โดยสื่อสร้างสรรค์จะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการช่วยรัฐบาลลดทอนปัญหาสังคมเพราะจากผลสำรวจค้นพบว่า สื่อมวลชนติด 1 ใน 5 อันดับปัจจัยที่กำลังบั่นความสุขของประชาชน" นายนพดล กรรณิกา กล่าว

นอกจากนี้การวางตัวบุคคลในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ (Accountability) เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ โดยรัฐบาลต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญสี่ประการในการทำงานคือ ประสิทธิภาพ (Effectiveness) การใช้เม็ดเงินงบประมาณอย่างคุ้มค่า (Efficiency) การวางตัวบุคคลทำงานจริงจังมีความเป็นผู้นำที่ใช้ทั้งอำนาจ (Power) และจริยธรรม (Ethics) จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการปฏิรูปประเทศผ่านโมเดลการพัฒนาปรับปรุงต่อเนื่อง (Continuous Improvement) และการปฏิบัติภารกิจแห่งรัฐที่โปร่งใส (Transparent Performance) โดยรัฐบาลนำร่องใช้เว็บไซต์ของตนเองประกาศรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นในลักษณะที่ให้สาธารณชนแกะรอยตรวจสอบได้ในทุกเม็ดเงิน ผลที่น่าจะตามมาคือ ความเข้มแข็งของสาธารณชนในระบอบประชาธิปไตยที่จะดูแลปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชนแต่ละคนและความมั่นคงของประเทศโดยรวม

ขณะที่ประเด็นที่ทำให้คนไทยมีความสุขมากที่สุด 5 อันดับแรก อันดับที่หนึ่งร้อยละ 94.7 เป็นความสุขที่เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดี รองลงมาร้อยละ 74.8 เป็นความสุขเมื่อนึกถึงสุขภาพโดยรวมของตนเอง อันดับสามร้อยละ 70.1 เป็นความสุขเมื่อนึกถึงจิตใจของตนเอง สุขภาพใจของตน อันดีบสี่ร้อยละ 69.2 เป็นความสุขเมื่อนึกถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวตนเอง และอันดับห้าร้อยละ 68.9 เป็นความสุขเมื่อนึกถึงการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เวลาเจ็บป่วยไม่สบาย

"เมื่อได้สัมภาษณ์เจาะลึกถึงเหตุผลของความสุขที่มีน้อยต่อสิ่งต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่ระบุการประชุมรัฐสภาที่มีแต่ความขัดแย้ง ทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ด่ากัน มีภาพโป๊ในสภาอันทรงเกียรติได้ทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสถาบันทางการเมืองที่น่าจะเป็นสถาบันแห่งความหวังในการคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม และคุณภาพนักการเมืองที่เอาแต่แก่งแย่งอำนาจ และเมื่อมีอำนาจก็เอาแต่ผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง ทั้งๆ ที่นักการเมืองคือกลุ่มคนที่ต้องทำหน้าที่แก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนของสาธารณชนและรักษาความเป็นธรรมทางสังคม เป็นกลุ่มคนที่ต้องช่วยลดความขัดแย้งไม่ใช่สร้างความแตกแยกขัดแย้งในหมู่ประชาชนเสียเอง" นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวว่า การที่ผู้ใหญ่ในสังคมทั้งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน ไม่ใส่ใจดูแล ไม่จริงจังแก้ปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน แต่กลับแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กและเยาวชนทั้งเรื่องเพศ เรื่องการพนันบอล การพนันออนไลน์ ความมัวเมามั่วสุมเหล่านี้ มีข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ทั้งสิ้น การวางตัวหัวหน้าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็นำคนที่มีปัญหาและพรรคพวกของฝ่ายการเมืองเข้ามาทำให้การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ เป็นต้น นอกจากนี้ ปัญหาปากท้อง ราคาสินค้า รายได้ที่ไม่เพียงพอก็ยังไม่พบแนวทางการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม นักการเมืองเมื่อมีอำนาจเป็นรัฐมนตรีก็ลืมประชาชนยังไม่เห็นใครทำงานหนักแบบเกาะติดพื้นที่เกาะติดประชาชนอย่างจริงใจและจริงจังเลย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ยังสนับสนุนให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงของไทยทำงานต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวจากกลุ่มตัวอย่างใน 17 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 2,319 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-30 มิ.ย.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ