เปิดศาลรธน.พยานผู้ร้องเข้าชี้แจงตุลาการฯ,เพื่อไทยโยงคำพูด"จรัล"ในอดีต

ข่าวการเมือง Thursday July 5, 2012 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พยานทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องคดีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มกระบวนการให้ปากคำและซักค้านในขั้นตอนการไต่สวนต่อหน้าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ โดยในฝ่ายผู้ร้องระบุว่าการยื่นคำร้องคัดค้านด้วยเหตุผลความกังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองนั้น เนื่องจากไม่ต้องการเรื่องราวดำเนินไปจนเกินกว่าจะเยียวยาได้ ในขณะที่ผู้ถูกร้องชี้แจงว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 3 จึงถือว่าเรื่องยังไม่เกิดขึ้น และยังโยงถึงคำกล่าวของนายจรัญ ภักดีธนากุล หนึ่งในคณะตุลาการฯ ที่เคยร่วมในคณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ที่ว่าขอให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขในภายหลัง

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ในฐานะหนึ่งในคณะผู้ร้อง ชี้แจงต่อคณะตุลาการว่า เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นั้นหากไปถึงขึ้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)แล้วจะส่งผลให้อำนาจในเรื่องของวินิจฉัยรัฐธรรมนูญจะพ้นจากศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ที่ประธานรัฐสภาเป็นผู้ชี้ขาด ขณะที่หลายฝ่ายมีความกังวลในความเป็นกลางของประธานรัฐสภา

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นั้นถึงแม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นตามกระบวนการที่เคยดำเนินการมาในอดีตด้วยการจัดตั้ง ส.ส.ร.ก็ตาม แต่บริบทของสังคมเปลี่ยนไปจากอดีต และเป็นเรื่องที่คาดคะเนว่าจะเกิดการล้มล้างการปกครองขึ้น ดังนั้นการยื่นคำร้องครั้งนี้เปรียบเทียบเหมือนกับกรณีที่เห็นคนเตรียมจะลอบวางเพลิง จะรอให้เรื่องเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยแก้ไข ก็อาจจะรุนแรงจนเยียวยาได้

ด้านตัวแทนฝ่ายผู้ถูกร้อง คือ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ซักค้านว่าคำร้องยกอ้างเหตุการณ์ใดๆที่ยังไม่เกิดขึ้นตามมาตรา 68 วรรคแรก โดยเป็นเพียงการคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นเท่านั้น โดยผู้ร้องไปยกความกังวลต่างๆ เช่น การที่มีอดีตกรรมการบริหารพรรคหรืออดีตสมาชิกพรรคที่รัฐบาลไปอภิปรายในทำนองเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบศาล หรือเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งๆที่โฆษกพรรคเพื่อไทยก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่มติของพรรค

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการซักถามฝ่ายผู้ถูกร้องได้พาดพิงถึงคำกล่าวของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอดีตสมัยที่ร่วในขณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูยฉบับปี 50 ว่าการดำเนินการแก้ไขขอให้รับไปก่อนเพื่อให้วิกฤตของประเทศหลุดพ้นจากกลิ่นอายของการทำรัฐประหารในปี 49 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำง่าย แค่แก้ไขมาตราเดียวในรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 เท่านั้น ซึ่งนายจรัญได้ขอชี้แจงจากบัลลังก์คณะตุลาการฯ ยอมรับว่าเคยกล่าวไว้จริงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าทำได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงมาตรเดียว

ขณะที่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีตมุ่งหวังปลดแอกอำนาจการรัฐประหารให้หลุดพ้นจากอำนาจของทหาร ซึ่งทุกฝ่ายแม้แต่ทหารก็ยอมรับเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพราะการดำเนินการมีกรอบชัดเจนว่าจะแก้ไขอย่างไร แต่บริบทสังคมในขณะนี้ไม่เหมาะสม เพราะอาจมีการบล็อกโหวดหรือสร้างความแตกแยกทางสังคม ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกร้องพยายามชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ในอดีตสังคมก็แตกแยกเหมือนกัน

ทั้งนี้ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า การทำรัฐประหารเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง และสิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่ได้แตกต่างไปจากการทำรัฐประหาร เพราะเป็นการดำเนินการล้มล้างระบอบการปกครองโดยใช้กระบวนการทางรัฐสภา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ