นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้อง แถลงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เหตุที่มองว่าการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้เป็นการคิดไปเอง เพราะหากดูร่างแก้ไขแล้วจะเห็นแต่แรกว่ามีการระบุในหลักการและเหตุผลว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองอย่างชัดเจน
โดยยกตัวอย่างบทบาทการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาที่วางตัวไม่เป็นกลาง และตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบทั้งในและนอกสภาฯ เพื่อลดความน่าเชื่อถือของสถาบัน โดยในสภาฯ ก็ใช้เสียงข้างมาก ส่วนนอกสภาฯ ใช้การกดดันจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)
นายวิรัตน์ ยังไม่เชื่อว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) จะเป็นตัวแทนประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริง เนื่องจากในจำนวน 99 คน ซึ่ง สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 77 คนนั้น ในจำนวนนี้คาดว่าอย่างน้อย 45 คนจะเป็นคนของรัฐบาล ส่วนที่เหลืออีก 22 คนซึ่งมาจากการแต่งตั้ง ก็เชื่อว่าจะเป็นคนของรัฐบาลเช่นกัน จึงทำให้ สสร.เป็นคนของรัฐบาลอย่างน้อย 67 คน จากจำนวนสสร.ทั้งหมด 99 คน ซึ่งถือว่าเป็นเสียงข้างมากและจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามแนวทางความต้องการของรัฐบาล
ด้านนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานฝ่ายผู้ร้อง ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เจตนารมย์เดิมของกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่เขียนไว้นั้นมุ่งหวังจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิทักษ์กฎหมายรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ถือว่ามีความพิเศษจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 50 ได้ผ่านการทำประชามติมาแล้ว ดังนั้น การจะแก้ไขก็สมควรต้องทำประชามติก่อนเช่นกันว่าจะแก้ไขในประเด็นไหน อย่างไร แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าหากมีการเลือกตั้ง สสร.แล้วจะมีการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง
ดังนั้น สสร.ที่ตั้งขึ้นมานี้ เปรียบเสมือนรัฐสภาส่งเช็คเปล่าเพื่อให้ สสร.ไปกรอกจำนวนตัวเลขเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะไม่มีใครรู้ว่า สสร.จะไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขในจุดใดบ้าง
นายสุรพล ยังชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างกัน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ที่ดำเนินการโดยสสร.ได้นั้นเป็นเพราะเป็นการเปลี่ยนการปกครองจากรัฐประหารมาเป็นประชาธิปไตย ซึ่งหลังจากเกิดการปฏิวัติในเดือน ก.ย.49 ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีเพียง 30 กว่ามาตราเท่านั้นไม่สามารถใช้บริหารราชการได้
ดังนั้น เมื่อตั้ง สสร.ขึ้นมาพิจารณากฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 จึงเป็นเหมือนการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากรัฐประหารกลับมาสู่ประชาธิปไตย ในขณะที่ปัจจุบันนั้นเป็นการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในช่วงที่มีการเลือกตั้งมาถึง 2 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีเหตุที่จะต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50
ส่วนเรื่องที่มองกันว่าจะไม่มีการแตะต้องหมวด 2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น จริงๆ แล้วเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีเฉพาะแค่ในหมวด 2 เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการใช้พระราชอำนาจในมาตราอื่นๆ อีกที่อยู่นอกเหนือจากหมวด 2
ด้านนายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา ในฐานะพยานผู้ร้อง ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือว่าการกระทำความผิดของฝ่ายผู้ถูกร้องสำเร็จแล้ว เพราะในหลักการและเหตุผลได้กำหนดชัดเจนไว้ในการเลือก สสร. ซึ่งในเรื่องนี้ถือว่าขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากเป็นการถ่ายโอนอำนาจรัฐสภาไปให้กับบุคคลภายนอก และเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ อีกทั้งไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะยืนยันได้ว่า สสร.จะไม่เข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะกรณีพระราชอำนาจ
นายวรินทร์ กล่าวว่า เหตุที่ไม่ยื่นคำร้องตั้งแต่แรกที่รัฐบาลเริ่มเคลื่อนไหวจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการรอให้ความผิดสำเร็จก่อน
ขณะที่นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน ในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้อง ชี้แจงว่า การยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถือว่าผิดขั้นตอน เพราะจะต้องทำประชามติก่อนว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบที่จะให้แก้ไขในมาตราใดบ้าง จึงค่อยมีขั้นตอนในการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการข้ามขั้นตอนมาที่การจัดตั้ง สสร.โดยที่ไม่มีการทำประชามติก่อนนั้น เสมือนเป็นการกระทำที่รัฐสภาใช้อำนาจนิติบัญญัติเกินขอบเขตที่มีอยู่ด้วยการถ่ายโอนอำนาจไปให้ สสร.ที่เป็นบุคคลภายนอก
ดังนั้น เมื่อขั้นตอนตั้งแต่เริ่มเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมองว่าขั้นตอนหรือกระบวนการใดๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องอันเกิดจากการกระทำของ สสร.จึงถือว่าขัดต่อกฎหมายด้วยเช่นกัน
เมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องครบทั้ง 7 ปากแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องอีก 8 ปากในวันพรุ่งนี้ ประกอบด้วย 1.นายวัฒนา เซ่งไพเราะ หรือนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ 2.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล 3.นายโภคิน พลกุล 4.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ 5.นายอุดมเดช รัตนเสถียร 6.นายสามารถ แก้วมีชัย 7.นายชุมพล ศิลปอาชา และ 8.นายภราดร ปริศนานันทกุล