"โภคิน"เชื่อเจตนารมณ์รธน.ไม่ต้องการให้ยื่นฟ้องโดยตรง-ย้ำเรื่องยังไม่เกิด

ข่าวการเมือง Friday July 6, 2012 13:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง ได้ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญต่อวินิจฉัยคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขอบเขตการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ โดยกรณีอำนาจการวินิจฉัยของศาลฯนั้น นายโภคิน ระบุว่า หากมองตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญแล้วคงไม่ต้องการให้มีการยื่นฟ้องได้ทั้ง 2 ทางคืออัยการแลยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยตรง เพราะไม่เช่นนั้นจะถือเป็นภาระอันใหญ่หลวงของศาล เนื่องจากจะมีคำร้องเข้ามาโดยตรงจำนวนมากโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากอัยการ ซึ่งศาลฯ จะต้องขอให้หน่วยงานที่มีผู้ยื่นคำร้องยุติกระบวนการใดๆ ก่อนเพื่อรอให้ศาลวินิจฉัยก่อนที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปได้

ขณะที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งต่อพยานฝ่ายผู้ถูกร้องว่า ในความคิดเห็นเรื่องนี้อาจมีความแตกต่างกันได้ โดยได้ยกกรณีก่อนหน้านี้ที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เคยยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ และศาลฯ ได้วินิจฉัยไม่รับคำร้อง เพราะถือเป็นการข้ามขั้นตอนเนื่องจากไม่มีการยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดก่อนว่า กรณีของนายสุรพงษ์ ถือเป็นการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ยุบพรรคโดยทันที ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอน เพราะต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดขั้นตอนหรือกระบวนการใดๆ ก่อน แต่คำร้องของนายสุรพงษ์ เป็นการขอให้ศาลสั่งลงโทษยุบพรรคเลย ดังนั้นจึงถือเป็นการข้ามขั้นตอน ซึ่งแตกต่างจากคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้รัฐสภาชะลอการลงมติวาระ 3 ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ออกไปก่อน

นายโภคิน ได้ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อว่า การที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า กระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ในรัฐสภายังจบอยู่ที่วาระ 2 ยังไม่มีการลงมติในวาระ 3 ซึ่งเท่ากับว่ายังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่สามารถคาดเดาหรือจินตภาพไปล่วงหน้าว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามที่ผู้ยื่นคำร้องกล่าวอ้าง อีกทั้งหากรัฐสภาผ่านการลงมติในวาระ 3 แล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)เท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

"กระบวนการขั้นตอนยังไม่ได้ดำเนินการไปจนได้ข้อยุติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพียงการคาดเดากันไปก่อนเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้ว การดำเนินการผ่านวาระ 3 ก็จะสิ้นสุดแค่การมี สสร.เท่านั้น หากมีการวินิจฉัยในขั้นตอนนี้ก็เท่ากับเป็นการจินตภาพในอนาคตมาตัดสินปัจจุบัน" นายโภคิน กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังชี้แจงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้หมายความว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง เพราะในอดีตที่ผ่านมาก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากฉบับปี 40 มาเป็น 50 ก็มีกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น จากเดิมที่เป็นเพียงคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภาเท่านั้นที่จะมีสิทธิยื่นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากจะให้มีการทำประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญก็เท่ากับการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยภาคประชาชนก็เป็นเพียงแค่หลักการเท่านั้น เกิดขึ้นไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ ยังยกประเด็นเรื่องในอดีตที่ผ่านมามีการแยกศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองออกมาจากศาลยุติธรรม หรือการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา ซึ่งเป็นการแยกอำนาจออกจากฝ่ายบริหารนั้น หากจะมองว่าการเสนอแนวคิดดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ต้องถือว่าเป็นความผิดมาตั้งแต่อดีตแล้ว แต่นี่ไม่ใช่ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นพัฒนาการของกระบวนการปกครอง

อย่างไรก็ดี หากภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย สสร.ที่มีการดำเนินการเกินขอบเขตในหมวดที่ห้ามไว้ ก็เป็นเรื่องที่ สสร.ต้องรับผิดทางอาญาต่อไป และมองว่าคงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญใดสูงค่ากว่ากัน เพราะสุดท้ายแล้วในทางปฏิบัติรัฐธรรมนูญที่ออกมาทุกฉบับ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ออกโดยคณะปฏิวัติก็ตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในภาคเช้าศาลรัฐธรรมนูญได้พักการไต่สวนไว้ที่นายโภคิน และจะกลับมาเริ่มการไต่สวนพยานปากต่อไปในช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ทางด้านกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในนามกองทัพปลดแอกประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตลอดจนนพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี พร้อมด้วยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และนายแซมดิน เลิศบุศย์ ได้ยื่นหนังสือเพื่อเป็นกำลังใจให้กับการทำงานวินิจฉัยคดีในครั้งนี้ของศาลรัฐธรรมนูญด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ