"ขุนค้อน"ยันไม่ได้รับใบสั่งแก้ รธน.โวยถูกกล่าวหาสาหัสล้มล้างการปกครอง

ข่าวการเมือง Friday July 6, 2012 18:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในฐานะพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง ยืนยันต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่เคยรับคำสั่งผู้ใดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะไม่กระทำการใดๆ ที่จะสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ 1 ใน 3 สถาบันหลักของชาติ

"หากผมรับคำสั่งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงตามที่ถูกกล่าวหา ก็คงจะไม่มีการให้ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ทั้งๆ ที่มติพรรคเพื่อไทยต้องการให้ลงมติในวาระ 3 รวมถึงเรื่อง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองด้วยเช่นกัน ที่ผมพยายามจะไกล่เกลี่ยเพราะไม่ต้องการเห็นคนไทยต้องฆ่ากันเองอีก"นายสมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ข้อกล่าวหาของฝ่ายผู้ผู้ร้องที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงและไม่มีความเป็นไปได้ เพราะการทำงานในเส้นทางการเมืองของตนตลอด 30 ปีเป็นการทำงานในรัฐสภา ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมีความศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ตนจะมีความคิดล้มล้างการปกครอง

"ข้อกล่าวหาเรื่องการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง รับไม่ได้ เพราะการล้มล้างถือว่าเป็นกบฎ เป็นข้อหาที่สาหัส"นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และตนมีเพียงหน้าที่ในการควบคุมการประชุมให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะสามารถไปก้าวล่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้รัฐสภามีการอภิปรายกันยาวนานถึง 15 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปิดกั้นโอกาสในการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา และไม่มีการเร่งรัดที่จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ถูกกล่าวหา

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนนั้นจะอยู่ที่มาตรา 291/13 ที่ระบุว่าเมื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ จะต้องส่งให้ประธานรัฐสภาได้พิจารณาใช้ดุลยพินิจว่าให้ความเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งหากเห็นชอบก็จะส่งต่อไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดทำประชามติต่อไป

พร้อมยอมรับว่า เป็นห่วงในขั้นตอนที่ สสร.จะส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานรัฐสภาพิจารณา ขั้นตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่ตนเรียกร้องต้องการจะดำเนินการ แต่เป็นขั้นตอนที่รัฐสภามอบหมายภาระหน้าที่นี้ให้ ซึ่งเดิมตนเคยมีแนวคิดจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาขึ้นมาพิจารณากลั่นกรอง แต่ต่อมามีข้อทักท้วงจากหลายฝ่ายโดยขอให้ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลางเข้ามาช่วยพิจารณาในคณะทำงานกลั่นกรอง จึงแสดงให้เห็นว่าตนไม่มีวาระซ่อนเร้น ทุกอย่างโปร่งใส

นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าไม่เป็นกลางและเป็นคนของพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะการเข้ามาทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้เป็นการเข้ามาตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่เมื่อมารับหน้าที่ในตำแหน่งนี้เชื่อว่าไม่มีใครยอมนำเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นประธานรัฐสภาไปเอาเปรียบหรือใช้สิทธิโดยไม่เป็นธรรมอย่างแน่นอน

ด้านนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้สอบถามนายสมศักดิ์ถึงมาตรา 291/11 วรรค 5 ในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นจะดำเนินการอย่างไร และเรื่องพระราชอำนาจที่อยู่ในมาตราอื่นๆ ซึ่งนายสมศักดิ์ ยืนยันว่า สสร.จะเข้าไปแก้ไขในหมวดดังกล่าวไม่ได้ ซึ่งจะมีการยกร่างของเดิมกลับมาใช้ทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ