นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย(พท.) มอบหมายให้นายคารม พลพรกลาง ทนายความ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีความเห็นรับคำร้องวินิจฉัยการแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 เป็นจำเลยที่ 1-8 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 1,555, 000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
รวมทั้งขอให้จำเลยยุติการพิจารณาคดี(จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลรัฐธรรมนูญ) ที่มีผู้ขอให้วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ โดยโจทก์ได้ยื่นคำขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาด การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ไว้ก่อน ซึ่งศาลรับคำฟ้องไว้ในสารบบเป็นคดีดำหมายเลข 2854/2555 และนัดพร้อมคู่ความในวันที่ 8 ต.ค.นี้ เวลา 9.00 น. ส่วนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งศาลว่าจะไต่สวนหรือไม่
นายคารม กล่าวว่า สาเหตุที่ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เนื่องจากนายวรชัย และ ส.ส.คนอื่น ซึ่งมีฐานะผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ออกกฎหมาย และการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ก็เป็นการออกกฎหมายอย่างหนึ่ง ทางรัฐสภาก็ได้รับรองกฎหมายดังกล่าว 2 วาระแล้ว แต่เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 ท่านมีมติรับคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ พร้อมสั่งระงับการพิจารณาวาระ 3 ทั้งที่การรับคำร้องต้องผ่านสำนักงานอัยการสูงสุดก่อน
นอกจากนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยมาวินิจฉัยรับคำร้องและสั่งระงับการพิจารณา ซึ่งเป็นการทำหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ที่ฝ่าฝืนกฎหมายและยังเป็นการละเมิดต่อโจทก์
"คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ฟ้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่ความผิดฐานละเมิดธรรมดา แต่เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายมหาชน โดยก่อนฟ้องเราได้ศึกษาข้อกฎหมายและพฤติกรรมโดยตลอด หลังจากที่มีการไต่สวนของศาลแล้วเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำฟ้อง โดยหวังว่าคำพิพากษาคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานทางสังคมต่อไป" นายคารม กล่าว
นายคารม กล่าวว่า หากศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนฉุกเฉินในวันนี้ก็ได้เตรียมพยานเบิกความไว้แล้ว 2 ปาก ประกอบด้วย นายวรชัย และพ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ข้าราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และได้จัดเตรียมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาประกอบการไต่สวนด้วย
อย่างไรก็ตาม ศาลแพ่งจะมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินทันก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวันพรุ่งนี้หรือไม่ก็ตาม หลังจากฟ้องแล้วตนเองจะทำสำเนาส่งให้ตุลาการทั้ง 8 คน ส่วนจะมีคำสั่งยุติการวินิจฉัยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ดุลพินิจของศาล