นักวิชาการมองคำตัดสินใจศาลรธน.เปิดทางยื่นคดีล้น-ก่ออำนาจคุมเกมแก้รธน.

ข่าวการเมือง Friday July 13, 2012 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องในคดีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 291 เนื่องจากให้เหตุผลว่าไม่เป็นการเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น การวินิจฉัยของศาลฯ เปรียบเสมือนได้เข้ามาทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ออกแบบให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเช่นนี้ พร้อมมองว่า จะเป็นบรรทัดฐานให้ในอนาคตจากนี้ต่อไปศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถเข้ามาควบคุมกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

"ศาลรัฐธรรมนูญได้สถาปนาตัวเองในการควบคุมการแก้รัฐธรรมนูญ เหมือนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องมาถามก่อนว่าจะแก้ไขได้หรือไม่" นายวรเจตน์ กล่าว และเชื่อว่าในอนาคตจะมีการยื่นคำร้องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องใช้ช่องทางการยื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุด

นายวรเจตน์ กล่าวด้วยว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังจะทำให้กระบวนการลงมติวาระ 3 ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องมีการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไปอย่างไร ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อแนวทางการพิจารณาของรัฐสภาในประเด็นนี้

"ศาลพยายามหลีกเลี่ยงไม่ลงมติที่จะวินิจฉัยว่าการลงมติวาระ 3(แก้ไขรัฐธรรมนูญ) ทำต่อได้หรือไม่ ให้ไปคิดกันเอง...ตรงนี้มันจะเป็นปัญหา ผมยังงงว่าสภาฯ ต้องทำอย่างไรต่อไป ศาลต้องวินิจฉัยให้ชัดว่าต้องลงมติวาระ 3 หรือไม่" นายวรเจตน์ ระบุ พร้อมคาดการณ์ว่ารัฐบาลคงจะยอมถอยและปล่อยให้การลงมติในวาระ 3 เรื่องร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป

ด้านนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวยอมรับผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และถือว่าคำร้องของฝ่ายผู้ร้องประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จากคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งจากการที่จะยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดและผ่านมายังศาลรัฐธรรมนูญอีกขั้นตอน

นอกจากนี้ ในประเด็นการแก้ไขมาตรการ 291 จะถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่นั้น จากกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้มองว่ารัฐสภาไม่มีสิทธิที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถ้าจะแก้ไขควรจะถามความเห็นจากประชาชนด้วยการทำประชามติก่อน เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 มาจากการทำประชามติของประชาชน

ส่วนแนวทางของกลุ่มพันธมิตรฯ จากนี้จะยังคงจับตารัฐบาลอย่างใกล้ชิดหากจะมีการเสนอเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในอนาคตต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ