เอแบคโพลล์เผยปชช.หนุนคำวินิจฉัยศาลให้แก้รธน.รายมาตรา,ถึงเวลาปรับครม.

ข่าวการเมือง Sunday July 15, 2012 12:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง คนติดตามข่าวการเมืองคิดอย่างไรต่อผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กับบทบาทของนายกรัฐมนตรีหญิงที่ประชาชนอยากได้เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า กรณีศึกษาตัวอย่างเฉพาะคนที่ติดตามข่าวการเมืองใน 17 จังหวัดของประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 ยอมรับ การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ถึงกับไปชักชวนคนอื่นให้มาเห็นด้วย ปล่อยให้แต่ละคนคิดกันเอง รองลงมาคือ ร้อยละ 23.3 ยอมรับและชักชวนคนอื่นให้ยอมรับ ในขณะที่ร้อยละ 6.5 ไม่ยอมรับ และจะชักชวนคนอื่นไม่ให้ยอมรับ และร้อยละ 8.8 ไม่ยอมรับ แต่ไม่ไปชักชวนคนอื่น

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.2 มีความสุขมากถึงมากที่สุดหลังฟังผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย และผลการตัดสินมีเหตุมีผลรับฟังได้ ในขณะที่ร้อยละ 30.9 มีความสุขปานกลาง และร้อยละ 11.9 มีความสุขน้อยถึงไม่มีความสุขเลย

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามประชาชนว่า ประเทศไทยควรเดินไปในทิศทางใดหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.8 อยากให้เลิกแบ่งสี แบ่งฝ่าย ทุกคนคือคนไทยด้วยกัน รองลงมาคือร้อยละ 72.6 อยากให้คนไทยรักกัน ก้าวสู่ความปรองดอง ร้อยละ 70.4 อยากให้เลิกเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ร้อยละ 69.9 อยากให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยรู้บุญคุณกตัญญูต่อแผ่นดินไทย ร้อยละ 67.4 อยากให้ทุกคนรู้สิทธิและหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และร้อยละ 66.4 อยากให้ฝ่ายการเมืองร่วมกันพัฒนาประเทศ เน้นนโยบายสาธารณะมากกว่าแย่งชิงอำนาจกัน

ที่น่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมือง คือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.9 กังวลต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะรุนแรงบานปลายหลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเวลานี้ฝ่ายการเมืองมุ่งแย่งชิงอำนาจกันไม่ฟังเสียงชาวบ้านส่วนใหญ่ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอย มุ่งเอาชนะคะคานกัน แต่ละฝ่ายมีเป้าหมายแอบแฝงที่ต้องแก้ให้ได้ มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง จะเอาการแก้รัฐธรรมนูญเป็นทางผ่านเข้าสู่อำนาจและเอาตัวรอด แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมกัน ไม่สงสารประชาชนและประเทศชาติ ในขณะที่ร้อยละ 42.1 ไม่กังวล

อย่างไรก็ตาม เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.3 สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะเป็นรายมาตรา ในขณะที่ร้อยละ 14.9 สนับสนุนให้แก้ไขทั้งฉบับ แต่เกือบ 1 ใน 3 ไม่สนับสนุนเลย

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงเวลาที่อยากให้โอกาสรัฐบาลชุดปัจจุบันทำงานภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 ให้เวลามากกว่า 2 ปี ถึงอยู่ครบเทอมจนหมดวาระ อย่างไรก็ตาม เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.4 ระบุว่าเวลานี้เหมาะสมแล้วที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 36.9 ระบุเร็วเกินไป แต่ร้อยละ 10.7 ระบุช้าเกินไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ