"เฉลิม"ขานรับแนวคิด"ทักษิณ"เสนอแก้ไข รธน.รายมาตรา,ปัดบินไปพบที่ฮ่องกง

ข่าวการเมือง Tuesday July 24, 2012 10:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ขานรับแนวคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นแนวทางที่มีความรอบคอบ โดยปฏิเสธการเดินทางไปฮ่องกงไม่ได้ไปพบอดีดนายกรัฐมนตรี

"พันตำรวจโททักษิณอยู่วงการการเมืองมานานน่าจะคิดรอบคอบแล้วว่าหากแก้รายมาตราน่าจะทำได้ไม่ยาก" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ก่อนหน้านี้รัฐบาลพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งฉบับ ด้วยการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ขึ้นมาดำเนินการ ซึ่งการพิจารณาผ่านขั้นตอนต่างๆ จนมาค้างถึงการลงมติในวาระ 3 เนื่องจากมีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการดำเนินการดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ หากจะแก้ไขทั้งฉบับต้องผ่านการลงประชามติก่อน แต่หากจะแก้ไขเป็นรายมาตราก็สามารถดำเนินการได้เหมือนในอดีต

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ส่วนตัวจะเสนอแนวทางแก้รัฐธรรนูญใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากกเลือกตั้งทั้งหมด 2.ยกเลิกผู้ตรวจการแผ่นดิน 3.ควบรวมศาลทั้งหมดไปอยู่ในแผนกของศาลฏีกา 4.คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทำหน้าที่เฉพาะจัดการเลือกตั้งไม่มีอำนาจให้ใบเหลือง-ใบแดง และ 5.ที่มาของคณะกรรมการ กกต.และ ป.ป.ช.ต้องมาจากการคัดเลือกโดยรัฐสภา มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณตามที่มีการกล่าวหา แต่เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการทำหน้าที่ของศาลฏีกา

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวตนเองยังไม่เคยนำไปหารือกับนายกรัฐมนตรี แต่หากในที่ประชุมพรรคเปิดโอกาสให้ตนเองได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองก็จะเสนอแนวคิดนี้ แต่หากที่ประชุมพรรคไม่รับข้อเสนอก็ไม่ขัดข้อง ขณะเดียวกันเห็นว่าประธานรัฐสภาไม่ควรแสดงความเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะต้องทำหน้าที่เป็นกลาง แม้จะเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะแสดงความคิดเห็นก็ตาม

ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว การทุจริตเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า มีผลกระทบต่อบุคคลหลายกลุ่ม แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีสั่งการมาแล้วก็ต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือใครก็ตาม โดยวันที่ 27 ก.ค.นี้จะประชุมคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และคณะกรรมการป้องการและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ปปท.) เพื่อติดติดตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ