นายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า แนวทางของพรรคยังต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะเป็นนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภา ซึ่งแนวทางที่จะทำให้การแก้ไขทั้งฉบับสามารถทำได้ ต้องมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางประเด็นที่เป็นอุปสรรคก่อน เช่น มาตรา 68 โดยระบุให้ชัดเจนว่ากำหนดเวลาให้อัยการสูงสุดวินิจฉัยกี่วันก่อนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ห้ามผู้ทราบการกระทำยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ประเมินแล้วว่าการลงมติในวาระ 3 ขณะนี้ยังมีความล่อแหลมและอาจดำเนินการลำบาก เพราะขนาดยังไม่มีการลงมติศาลยังเปิดช่องออกคำสั่งให้มีการชะลอการลงมติได้ และเชื่อว่าหากลงมติจริงเสียงของ สส.และสว.จะเกิดความไม่มั่นใจว่าหากลงมติแล้วจะแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จหรือไม่ ดังนั้นเห็นว่าไม่สามารถลงมติวาระ 3 ได้ทันที แต่ระหว่างนี้รัฐบาลควรเร่งรณรงค์ทำความเข้าใจให้ประชาชนเห็นว่าเหตุใดจึงควรแก้รัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งฉบับ
ขณะที่การแก้ไขรายมาตรานั้น กระบวนการต้องใช้ระยะเวลานานมาก ประกอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรานั้นมีความเกี่ยวโยงกับมาตราอื่นในรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นควรแก้เป็นพลวัตคือแก้ทั้งฉบับจะดำเนินการง่ายกว่าและเป็นไปตามนโยบายที่พรรคเคยแถลงไว้ด้วย
ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่า เชื่อว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมานั้นตรงกับคำแถลงเมื่อวันที่ 13 ก.ค. แต่จะมีรายละเอียดชัดเจนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ไม่ทราบว่าคำวินิจฉัยกลางที่ออกมาจะมีความชัดเจนเรื่องการลงมติในวาระ 3 รวมทั้งคำแนะนำเรื่องการทำประชามติหรือไม่ หากไม่มีความชัดเจนออกมาการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็คงเป็นหมัน เพราะไม่ได้ปลดล็อคเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หวังว่าคำวินิจฉัยกลางที่ออกมาจะมีความชัดเจน หรือว่าอาจจะชัดเจนแบบไม่ชัดเจนหรือไม่
"เท่าที่ฟังนั้นเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย"อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ ส่วนตัวแล้วมองว่า ทางออกที่ปลอดภัยและเหมาะสมที่สุดคือ การแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยให้ครม.หรือสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เสนอขอแก้ไข แม้ว่าจะช้าเพราะถูกฝ่ายค้านแปรญัตติยืดเยื้อจนใช้เวลานาน แต่ไม่ถือเป็นการผิดสัญญาเรื่องการไม่ทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เพราะรัฐบาลได้เดินหน้าทำอย่างเต็มที่แล้ว และไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายหรือนองเลือดขึ้นอีก จึงเป็นเรื่องสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำตามนโยบายรัฐบาลได้ จึงไม่ถือเป็นการผิดสัญญา