พรรคร่วมรัฐบาลออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมญ โดยแจ้งมติที่ประชุมฯ 3 ข้อ คือ 1.ให้จัดตั้งคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบและเร่งด่วนทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการ เพื่อเป็นแนวทางให้พรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมให้แก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป ภายใต้บริบทของการทำความเข้าใจและการร่วมมือกันของทุกฝ่าย
2.ในระหว่างการรอผลการศึกษาของคณะทำงานดังกล่าว ควรจะมีการชะลอการลงมติในวาระที่ 3 ไปสักระยะหนึ่งก่อน และ 3.ให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลโดยการร่วมมือกับทุกภาคส่วนรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความมุ่งมั่นของพรรคร่วมรัฐบาลที่กล่าวมาข้างต้น โดยเน้นการสถาปนาหลักนิติรัฐ นิติธรรม ให้ปรากฏเป็นจริงในสังคม เพื่อให้สามารถบริหารและพัฒนาประเทศไปได้ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ได้รับการจัดทำขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร และแม้จะได้รับความเห็นชอบโดยประชามติของประชาชน 14 ล้านคนเศษ แต่ก็มีประชาชนอีก 10 ล้านคนเศษไม่เห็นชอบ ทั้งยังมีบทบัญญัติหลายมาตราที่ขัดแย้งกันเอง ขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญอ้างไว้อย่างชัดแจ้ง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในองค์กรสำคัญหลายองค์กรที่อาจใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการปฏิบัติหน้าที่ทั้งของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารจำนวนมากมาจากการแต่งตั้งหรือได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหาร ทั้งหมดนี้เป็นบ่อเกิดอันสำคัญของความอยุติธรรมและความขัดแย้งที่ดำรงอยู่และกำลังดำเนินไปในสังคมไทย
การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้งจากรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 99 คน โดย 77 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจังหวัดละ 1 คน อีก 22 คนรัฐสภาเลือกจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในด้านที่เกี่ยวข้องนั้นก็เพื่อให้ตัวแทนของประชาชนไปยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือฉบับใหม่ จากนั้นก็นำไปให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงประชามติ โดยคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยประชาชนและหากได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในที่สุดแล้ว จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและสร้างเสริมประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อเป็นหลักอันมั่นคงของสังคมไทยต่อไป โดยไม่เปลี่ยนแปลงเรื่องรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รูปของรัฐ และหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ควรจะให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งเป็นการสอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นั้น ได้ทำให้เกิดปัญหาและข้อสงสัยในทางปฏิบัติหลายประการ