ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้มีมติเสียงข้างมาก 272 ต่อ 1 เสียงเห็นชอบให้เลื่อนเรื่องที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาเสร็จแล้วจำนวน 10 เรื่องให้ขึ้นมาพิจารณาก่อน ตามที่นายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ สส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทยเสนอ ประกอบด้วย 1.ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ 2.ร่างพ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่ตำบลห้วยโป่ง และตำบลมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง 3.ร่างพ.ร.บ.วิชาชาชีพแผนไทย 4.ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
5.ร่างพ.ร.บ.ประกอบโรคศิลปะ 6.ร่างพ.ร.บ.สถานพยาบาล 7.ร่างพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร 8.ร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ ประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 9.ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และ 10 ร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีของผู้บริโภค
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนฯ ชี้แจงถึงการจัดระเบียบวาระการประชุมสภาฯในครั้งต่อไปว่า ภายหลังได้มีการเลื่อนระเบียบวาระเรื่องที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วจำนวน 10 เรื่องขึ้นมาก่อน ทำให้การประชุมสภาผู้แทนฯ สัปดาห์หน้าจะเป็นการประชุมนัดปกติ โดยจะพิจารณาเรื่องที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว 10 เรื่องก่อน จากนั้นถึงจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ทั้ง 4 ฉบับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.08 น.นายสมศักดิ์ เปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษเป็นครั้งแรกในสมัยประชุมสามัญทั่วไป ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศ พ.ร.ฎ.เรียกประชุม จากนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ร่วมกันยืนไว้อาลัยให้กับการอนิจกรรมของของนายสถาพร มณีรัตน์ อดีต ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย พร้อมกับแจ้งให้ที่ประชุมฯ ทราบถึงการลาออกจากตำแหน่งของนายพงษ์ศักดิ์ เรือนเงิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ในวันที่ 1 ส.ค.
และคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ ส.ส.จำนวน 3 คน ได้แก่ นายดิสทัต คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคเพื่อไทย, นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย และนายฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร ส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มีจำนวน ส.ส.เหลืออยู่ 494 คน
จากนั้นนายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ได้ขอเปลี่ยนระเบียบวาระด้วยการเลื่อนเรื่องที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วจำนวน 10 เรื่องให้ที่ประชุมฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ได้อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนระเบียบวาระดังกล่าว เพราะถึงที่สุดแล้วร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ก็ยังคงอยู่ในระเบียบวาระปกติอยู่ดี
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การที่ประธานสภาผู้แทนฯจะนัดประชุมเป็นกรณีพิเศษแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา การทำแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับเป็นลิงแก้แหไปเรื่อยๆ ไม่เป็นการให้เกียรติสภาผู้แทนฯ เพราะก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านเคยต้องการให้ถอนร่างกฎหมายปรองดองออกไป แต่สภาผู้แทนฯ ก็ไม่เห็นด้วยและเสนอเลื่อนระเบียบวาระขึ้นมาเป็นเรื่องด่วน แต่วันนี้พอสถานการณ์ทำท่าจะไปไม่ได้ก็ขอนัดประชุมพิเศษพร้อมกับเลื่อนวาระอื่นๆ มาพิจารณา ทั้งที่กฎหมายปรองดองก็ยังอยู่ในระเบียบวาระการประชุมตามปกติอยู่ดี ดังนั้นทางที่ดีควรถอนกฎหมายฉบับนี้ออกไปเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบ
"อยากทราบเหตุผลว่าการเลื่อนระเบียบวาระดังกล่าวเพื่อความสงบของบ้านเมืองหรือใบสั่งเปลี่ยน ถึงแม้จะเลื่อนอย่างไรปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะกฎหมายปรองดองยังคาอยู่ในสภาฯ มีกลุ่มคน 4 กลุ่มที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ คือ ประธานสภาฯ นายกรัฐมนตรี ผู้เสนอร่างกฎหมาย และพรรคเพื่อไทยในฐานะเสียงข้างมากของสภาฯ" นายจุรินทร์ กล่าว
นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า ไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่าให้มีการถอนร่างกฎหมายปรองดอง และไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะไปคุยกับผู้เสนอร่างกฎหมายให้ถอนกฎหมายออกจากสภา เพียงแต่ส่วนตัวพูดว่าเห็นด้วยที่จะมีการเลื่อนการพิจารณาออกไป และจะไปหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวของ ซึ่งก็ได้ทำที่พูด และมีแนวโน้มออกมาในทางที่ดี
ขณะที่ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเลื่อนระเบียบวาระเรื่องที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วดังกล่าวมาพิจารณาก่อนไม่ได้เกี่ยวกับใบสั่งทางการเมือง แต่ยอมรับว่าเป็นการถ่วงเวลาเพื่อรอให้ฝ่ายค้านเปลี่ยนใจมาร่วมสร้างความปรองดองด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ตามแนวทางของฝ่ายค้านเข้ามาประกบกับร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับที่มีการเสนอมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการนิติบัญญัติปกติที่เคยทำมา