นายปานเทพ กล้านรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ปาฐกถาเรื่อง "ความโปร่งใสกับการพัฒนาสังคมไทย"ว่า หลักความโปร่งใสถูกบรรจุไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ในขณะที่รัฐบาลกำลังดำเนินโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการในขณะนี้ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องทำให้ประชาชนได้รับทราบถึงขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสโดยเฉพาะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
"การทำโครงการเชิงนโยบายใช้งบประมาณจำนวนมากไม่ใช่ความผิด เป็นไปตามอำนาจของรัฐบาล แต่รัฐบาลมีหน้าต้องบอกประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศให้ทราบทั้งหมด โดยเฉพาะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ ได้กำหนดให้รัฐบาลต้องเปิดเผยราคากลางและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้ประชาชนรับรู้และมีส่วนร่วม" นายปานเทพ กล่าว พร้อมระบุว่า ป.ป.ช.ได้เสนอระเบียบไปให้คณะรัฐมนตรีลงนามให้ความเห็นชอบแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า
ประธานป.ป.ช. กล่าวด้วยว่า แนวคิดเรื่องความโปร่งใสเป็นหลักที่เน้นไปยังการบริหารงานของภาครัฐที่จะต้องมีความชัดเจนให้สังคม โดยเฉพาะเมื่อภาครัฐจะทำกิจกรรมเกี่ยวกับสาธารณะจำเป็นต้องบอกประชาชนว่าจะดำเนินการอะไรอย่างมีเหตุผล เช่น วัตถุประสงค์ กฎเกณฑ์ ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ ที่มาของงบประมาณ และมีการป้องกันความเสี่ยงต่อการคอรัปชั่นอย่างไร
"ความโปร่งใสเป็นเครื่องมือป้องกันคอรัปชั่น เพื่อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ เรื่องนี้มีความสำคัญต่อการทำงานทั้งหมด ถ้ารัฐบาลทำให้เกิดความโปร่งใสประชาชนจะเกิดความศรัทธา ความไว้วางใจและการให้ความร่วมมือกัน จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาประเทศและสังคม" นายปานเทพ กล่าว
ทั้งนี้ มองว่าการทุจริตยังเป็นปัญหาและลิดรอนความเจริญของประเทศไทย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้เกิดความโปร่งใสโดยอาศัยความจริงใจจากภาครัฐ เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยืนหยัดในเวทีนานาชาติอย่างมีความสง่างาม โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีชี้วัดปัญหาคอรัปชั่นและความโปร่งใสของไทยยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้นนั้นมาจากการขาดความร่วมมือของภาคการเมือง
สำหรับการจัดกิจกรรม "รวมพลคนต้านการทุจริต" ในวันนี้ ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายป.ป.ช. 3 ข้อ ได้แก่ 1.ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการของภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจเอกชน และทุกภาคส่วนให้ใช้หลักธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาล ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะความโปร่งใสและความซื่อสัตย์สุจริต
2.กล้ายืนหยัดที่จะเฝ้าระวังตรวจสอบการใช้อำนาจหรือการดำเนินงานของภาครัฐ ชอบธรรม รวมทั้งแจ้งข้อมูลเบาะแสอันจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 3.จะถือว่าการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตเป็นภารกิจของทุกคนในชาติ และเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตลอดจนสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งและยั่งยืนเพื่อขยายผลเจตนารมณ์ให้กว้างขวางครอบคลุมทั่วทั้งแผ่นดินไทย
นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ทุจริตเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด เท่าที่สังคมต้องเผชิญและแก้ปัญหามากที่สุด ถ้าเทียบกับการก่อการร้ายแล้วเปรียบได้แค่เด็กที่ซนเท่านั้น ไม่เท่ากับการทุจริตที่เป็นยักษ์ใหญ่ เพราะมันเข้าไปซึมลึกในจิตใจ และระบบที่เพาะโรคร้ายอย่างร้ายแรง คือ ระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่ในสังคมมานานมาก
"การที่เรารักษาระบบนี้ไว้ก็เพราะรักษาผลประโยชน์ของเราเอง เหมือนกับที่บอกว่าโกงไม่เป็นไร ให้ได้ประโยชน์ก็แล้วกัน เป็นการทำลายทัศนคติมันจะหมายถึงความพินาศของบ้านเมือง เพราะมันจะเกิดลัทธิยอมจำนน" นายวิชา กล่าว