ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กรุงเทพโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 27 แห่ง เรื่อง "พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556" พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ 40.6% เชื่อว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ประมาณการไว้ที่จำนวน 2,197,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.3% จากปีก่อน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อีก 39.1% เชื่อว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้
เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลจำนวน 300,000 ล้านบาท นักเศรษฐศาสตร์ 39.1% เห็นว่าน่าจะขาดดุลในจำนวนเงินที่ต่ำกว่านี้ ขณะที่อีก 35.9% เห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับงบลงทุนจำนวน 448,938.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.7% ของวงเงินงบประมาณนั้น นักเศรษฐศาสตร์ 40.6% เห็นว่าสัดส่วนงบลงทุนต่อจีดีพีน่าจะสูงกว่านี้ โดยควรอยู่ที่ระดับ 23.4% ของวงเงินงบประมาณรวม ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อีก 32.8% เห็นว่าเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว
ส่วนสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กังวลมากที่สุดเกี่ยวกับการใช้งบประมาณคือ การทุจริตคอร์รัปชัน รองลงมา คือ การใช้งบประมาณในโครงการประชานิยม และความไม่มีประสิทธิภาพในการใช้เงินงบประมาณ
เมื่อถามว่าระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกับความจำเป็นในการใช้เงินงบประมาณนั้นอะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน ณ สถานการณ์และบริบทปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 51.6% เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ มากกว่าการลดหนี้สาธารณะ ส่วนอีก 35.9% เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการลดหนี้สาธารณะมากกว่าการใช้งบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ
สำหรับข้อเสนอแนะของนักเศรษฐศาสตร์ 3 อันดับแรกเกี่ยวกับการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 พบว่า อันดับ 1 รัฐบาลควรคำนึงถึงประสิทธิภาพของการใช้เงิน มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
อันดับ 2 รัฐบาลควรใช้งบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นสำคัญ ไมว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาการศึกษา มีการกระจายงบประมาณลงไปยังท้องถิ่นให้มากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุปสงค์ภายในประเทศด้วย
อันดับ 3 รัฐบาลควรเร่งทำงบประมาณให้มีความสมดุล บริหารจัดการสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี รวมถึงไม่ควรก่อหนี้มาใช้ในโครงการประชานิยม แต่ควรก่อหนี้มาใช้ในโครงการลงทุน
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จาก 27 องค์กรชั้นนำของประเทศ รวม 64 คน ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.-10 ส.ค.55