In Focusแผ่นดินไหวอิหร่าน โอกาสทองฟื้นความสัมพันธ์อิหร่าน-สหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 15, 2012 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อช่วงเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา ชาวอิหร่านจำนวนมากในเมืองอาฮาร์ ฮาริส และวาร์ซากัน ในจังหวัดอาเซอร์ไบจันตะวันออก ต่างตื่นตกใจกับแรงสั่นสะเทือนมหาศาลที่เขย่าบ้านเรือนถึง 2 ครั้งติดต่อกันในเวลาเพียงไม่กี่นาที แรงสั่นสะเทือนรุนแรงถึงขั้นทำให้หมู่บ้านกว่า 10 แห่งพังราบเป็นหน้ากลอง อีกกว่า 400 แห่งได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ชาวบ้านต่างหนีตายกันอย่างอลหม่าน

ศูนย์แผ่นดินไหวอิหร่านรายงานว่า แผ่นดินไหวครั้งแรกความรุนแรง 6.2 ริกเตอร์ เกิดขึ้นเมื่อเวลา 16.53 น. (19.23 น.ตามเวลาประเทศไทย) โดยศูนย์กลางอยู่ที่ความลึก 10 กิโลเมตร ละติจูด 38.49 องศาเหนือ และ 46.87 ลองจิจูดองศาตะวันออก ในเมืองอาฮาร์ จังหวัดอาเซอร์ไบจันตะวันออก ตามมาด้วยเหตุแผ่นดินไหวอีก 6.0 ริกเตอร์ในเมืองวาร์ซากาน ใกล้กับเมืองอาฮาร์ ที่ความลึก 10 กิโลเมตร ละติจูด 38.45 องศาเหนือ และ 46.73 ลองจิจูดองศาตะวันออก ในเวลา 17.04 น. (19.34 น.ตามเวลาประเทศไทย)

ขณะที่สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) รายงานว่า แผ่นดินไหวครั้งแรกวัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.4 ริกเตอร์ และแผ่นดินไหวครั้งที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียง 11 นาทีต่อมา วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.3 ริกเตอร์

เมื่อเจ้าหน้าที่กู้ภัยยุติการค้นหาผู้รอดชีวิตเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทางการอิหร่านระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 306 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 3,000 คน ขณะที่ประชาชนประมาณครึ่งแสนคนต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

ประกาศกร้าว! ไม่รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

ก่อนที่จะเกิดธรณีพิบัติภัยครั้งใหญ่นี้ อิหร่านกำลังถูกสหรัฐอเมริกาและบรรดาประเทศพันธมิตรคว่ำบาตรอย่างหนักหน่วงเพื่อกดดันให้อิหร่านยุติโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งการคว่ำบาตรมีหลายระลอก อาทิ เมื่อช่วงปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา การคว่ำบาตรพุ่งเป้าไปที่สถาบันการเงินของประเทศที่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ต่อมาเมื่อต้นเดือนก.ค. สหภาพยุโรป (อียู) ก็คว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ล่าสุดเมื่อต้นเดือนส.ค. ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐ ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อภาคธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมีของอิหร่าน เป็นต้น ถึงกระนั้นอิหร่านก็ไม่ได้สะทกสะท้าน ซ้ำยังตอบโต้อย่างแข็งกร้าวด้วยการข่มขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันบ้าง จะระงับการส่งออกน้ำมันบ้าง ท่าทีแบบ “ยอมหักไม่ยอมงอ" ของอิหร่านจึงเป็นที่คุ้นเคยของประชาคมโลกเป็นอย่างดี

ในเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้อิหร่านจะได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหว ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหลายหมื่นคน อิหร่านก็ยังมีท่าทีแข็งกร้าวและประกาศอย่างทะนงตนว่า “ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศ" และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อิหร่านได้ส่งหน่วยกู้ภัยจากตุรกีที่เดินทางเข้าไปในอิหร่านกลับไปโดยไม่ได้ประสานล่วงหน้า

เปลี่ยนท่าที ขณะที่นานาชาติพร้อมช่วยเหลือ

อย่างไรก็ดี เพียง 1 วันหลังจากประกาศว่าไม่ต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก อิหร่านก็เปลี่ยนท่าทีจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยนายโมฮัมหมัด เรซา ราฮิมี รองประธานาธิบดีคนที่ 1 ของอิหร่าน ได้ประกาศว่าอิหร่านพร้อมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในจังหวัดอาเซอร์ไบจันตะวันออก หลังจากที่เขาได้ลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อสำรวจความเสียหาย แต่นายราฮิมีก็ยังให้เหตุผลแบบไว้เชิงว่า “อิหร่านได้ให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆเมื่อครั้งที่ประสบภัยพิบัติมาแล้ว และขณะนี้อิหร่านก็พร้อมรับความช่วยเหลือจากนานาประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว"

ประเทศแรกๆที่ออกมาเสนอความช่วยเหลือให้แก่อิหร่านไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นไม้เบื่อไม้เมาอย่างสหรัฐอเมริกานั่นเอง โดยประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐได้เปิดไฟเขียวให้ชาวอเมริกันส่งความช่วยเหลือไปให้แก่ชาวอิหร่านที่ประสบภัยได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำธุรกรรมกับอิหร่าน โดยนางวิกตอเรีย นูแลนด์ โฆษกประจำกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า “สหรัฐต้องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวอิหร่านในระหว่างนี้ โดยอาจให้มีการบริจาคอาหารและยาโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตการทำธุรกรรมกับอิหร่าน"

ขณะเดียวกันอียูก็ประกาศให้ความช่วยเหลืออิหร่านเช่นกัน โดยแคธรีน เรย์ โฆษกคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาของอียู กล่าวว่า อียูพร้อมให้ความช่วยเหลือหากรัฐบาลหรือสภาเสี้ยววงเดือนแดงของอิหร่านร้องขอ

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

สหรัฐกับอิหร่านไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน และมีปัญหาขัดแย้งกันมานานหลายสิบปีแล้ว โดยเฉพาะกรณีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ดังนั้นการที่สหรัฐได้มีโอกาสแสดงมิตรจิตมิตรใจต่ออิหร่านบ้างก็ถือเป็นโอกาสดีที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ความช่วยเหลือที่สหรัฐเสนอให้อิหร่านนั้น ดูจะยังไม่เป็นรูปธรรมนัก เพราะสุดท้ายแล้วสหรัฐก็ยังไม่ยกเว้นมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินต่ออิหร่าน ซึ่งห้ามธนาคารสหรัฐทำธุรกรรมกับธนาคารกว่า 10 แห่งของอิหร่าน ทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่านในสหรัฐและประชาชนทั่วไปไม่สามารถโอนเงินเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในอิหร่านได้ ทั้งที่ความช่วยเหลือทางการเงินเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทำให้อิหร่านได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 600 ล้านดอลลาร์

หากสหรัฐจริงใจที่จะช่วยเหลืออิหร่านจริงก็ควรยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร อย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้อิหร่านได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และหากอิหร่านรู้สึกได้ว่าได้รับไมตรีจิตอย่างแท้จริง อิหร่านก็อาจเปิดใจให้กับสหรัฐมากขึ้น อันจะนำไปสู่การเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทด้านนิวเคลียร์ระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อไป แม้ว่าจะเป็นเพียงก้าวเล็กๆก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ