เอแบคโพลล์เผยคนชี้ รมว.เกษตรฯ ควรถูกอภิปรายฯ,ห่วงปมทุจริตรับจำนำข้าว

ข่าวการเมือง Sunday August 19, 2012 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอแบคโพลล์ เผยประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่านายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ควรถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมากสุดในประเด็นปัญหาจำนำข้าว ราคาผลผลิตทางการเกษตร และบัตรเครดิตชาวนา ขณะเดียวกันอยากฟังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ เป็นผู้อภิปราย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจงการอภิปรายมากสุด

โดยผลสำรวจพบว่ารัฐมนตรีและปัญหาที่ควรถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นส่วนใหญ่ร้อยละ 59.6 ระบุนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ เรื่องปัญหาจำนำข้าว ราคาผลผลิตทางการเกษตร และบัตรเครดิตชาวนา รองลงมาร้อยละ 57.1 ระบุนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เรื่องปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ร้อยละ 55.6 เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 72.9 อยากฟัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจงมากกว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่มีประชาชนอยากฟังเพียงร้อยละ 27.1 ขณะเดียวกันประชาชนร้อยละ 56.2 อยากฟังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายมากกว่านายชูวิทย์ กมลวิสิทธิ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย

โดยนโยบายรัฐบาลที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีการทุจริต 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 70.7 รู้สึกเป็นห่วงการรับจำนำข้าว รองลงมาคือร้อยละ 67.6 ระบุการแจกแทบเล็ตนักเรียน ร้อยละ 57.7 ระบุบัตรเครดิตชาวนา ร้อยละ 56.8 ระบุการแก้ไขป้องกันปัญหายาเสพติด และร้อยละ 55.4 ระบุบัตรเครดิตพลังงาน

ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 90.5 รู้ข่าว และส่วนใหญ่ร้อยละ 67.5 อยากเห็น พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงบทบาทที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ส่วนอีกร้อยละ 32.5 ไม่อยากเห็น

ผลสำรวจ 5 อันดับบทบาทที่อยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงบทบาทที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนคนไทยในการเดินทางไปประเทศต่างๆ ได้แก่ ร้อยละ 84.9 ระบุแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน ค่าครองชีพ ป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจจากต่างชาติ รองลงมาร้อยละ 83.2 ระบุเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ร้อยละ 69.1 ระบุแก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ร้อยละ 62.5 ระบุแก้ปัญหาที่ทำกินชาวไร่ชาวนา และร้อยละ 61.1 ระบุแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชน

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 55.4 ระบุการเดินทางไปประเทศต่างๆ ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ประเทศไทยยังคงเหมือนเดิม ขณะที่ร้อยละ 25.2 ระบุทำให้ประเทศไทยดีขึ้น แต่ร้อยละ 19.4 ระบุแย่ลง

นายนพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อประเด็นที่มีนัยสำคัญทางการเมืองและสังคมไทยในหลายมิติ ได้แก่ บทบาทสำคัญของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในเวทีต่างประเทศเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนคนไทยและประเทศชาติ โดยมุ่งสู่ความเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ การป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจของต่างชาติ และการเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาสังคมภายในประเทศที่ยังรุนแรงและคนไทยยังคงให้ความหวังต่อความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย เป็นต้น ในขณะที่ ความรู้สึกของประชาชนต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจส่วนใหญ่มุ่งไปที่ความไม่ชอบมาพากลและความสามารถบริหารจัดการในนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เช่น การรับจำนำข้าว การแก้ปัญหาปากท้อง และปัญหายาเสพติดระดับชุมชน เพราะจากการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ พบว่า ข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล "หน้าจอทีวี" กับความเป็นจริง "หน้าบ้าน ในบ้าน ในชุมชน" ของประชาชนยังแตกต่างกัน คือ หน้าจอทีวีดูดี แต่หน้าบ้าน ในบ้าน ในชุมชนของประชาชนยังคงมีปัญหามากมาย

"ผลสำรวจได้ตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหาต่างๆ ยังคงเหมือนเดิมกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังไม่ได้ทำให้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงแตกต่างที่ดีขึ้น เพราะผลสำรวจชี้ให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนคนไทยว่า นักการเมืองก็ยังคงสร้างภาพ มุ่งชิงอำนาจ ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงวิ่งเต้น รีดไถ ขี้โกง และประชาชนทั่วไปก็ยังคงแล้งน้ำใจ ไม่เสียสละ ไม่ช่วยดูแลสังคม ไม่มีวินัย ไม่เคารพกฎหมาย เอารัดเอาเปรียบและตัวใครตัวมัน เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงต้องเร่งทำให้เห็นความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายสาธารณะและมาตรการปฏิบัติที่ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง" นายนพดล กล่าว

ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ได้สำรวจความคิดเห็นในเรื่อง "บทบาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในเวทีต่างประเทศกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และประเด็นเก็บตกจากผลสำรวจข้อบันทึกสังเกตการณ์ของประชาชนในสังคมไทย" จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดจำนวนทั้งสิ้น 2,289 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 11-18 ส.ค.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ