นายโภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ มอบหมายให้นายวราเทพ รัตนากร เลขานุการคณะทำงานฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการรณรงค์ทำความเข้าใจต่อประชาชนถึงเหตุผลที่จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยจะประสานงานไปยังสถาบันการศึกษา องค์กรวิชาการ และองค์กรสื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่การรณรงค์ในรูปแบบเวทีสาธารณะ การสัมมนา หรือออกอากาศทางสื่อโทรทัศน์ ซึ่งจะมีคณะทำงานฯ 11 คนเป็นกำลังหลักในการรณรงค์ทำความเข้าใจต่อประชาชน
"การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อสภาฯ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ที่มีที่มาจากการรัฐประหาร ถึงแม้จะรับร่างโดยประชาชน 14 ล้านคน แต่ยังมีอีก 10 ล้านคนที่ไม่เห็นด้วย และยังมีอีกหลายมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น วันนี้เราต้องร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนรู้ว่าควรจะแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปให้ได้" นายโภคิน กล่าว
นายโภคิน กล่าวว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 แต่การเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีความชัดเจนมากพอ ประกอบกับ การที่ศาลระบุว่าหากแก้ไขทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อน เป็นคำแนะนำที่ไม่มีผลผูกพันองค์กร แต่กลับมีตุลาการบางคนย้ำว่าหากไม่ทำประชามติอาจมีปัญหา ดังนั้น เรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ หากเดินพลาดอาจนำไปสู่ปัญหาที่ตามมาได้ในภายหลัง
"อำนาจ 3 ฝ่ายในระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะถ่วงดุลกัน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญอำนาจเดียวมาทำให้ทุกระบบรวนกันไปหมด" นายโภคิน ระบุ
นายโภคิน กล่าวว่า ยังมั่นใจว่ากรอบระยะเวลาการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นก่อนปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอมติไปยังทุกพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การพิจารณาต่อไป