นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง "ผลงานรัฐบาล ปัญหาชีวิตชาวบ้าน ต้นเหตุปัญหาสำคัญของชาติ การปรับคณะรัฐมนตรีและความปรองดองในสายตาประชาชน" พบว่า เมื่อถามถึงผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันเปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดก่อน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.8 ระบุเหมือนเดิม ไม่แตกต่างกัน ขณะที่ร้อยละ 23.9 ระบุว่า ดีขึ้นถึงดีขึ้นมาก แต่ร้อยละ 19.3 ระบุแย่ลงถึงแย่ลงมาก
เมื่อถามถึงความหลากหลายของปัญหาในชีวิตประจำวันที่ประสบในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบัน เปรียบเทียบกับรัฐบาลชุดก่อน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.8 ระบุปัญหาค่าครองชีพและหนี้สินเพิ่มขึ้น ร้อยละ 63.5 ระบุความรุนแรงของปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 52.4 ระบุว่า การทุจริตคอรัปชั่นเพิ่มขึ้น ร้อยละ 51.1 ระบุปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 49.8 ระบุการใช้ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ร้อยละ 46.7 ระบุการเลือกปฏิบัติและความไม่เป็นธรรมในสังคม และร้อยละ 45.5 ระบุความขัดแย้งทางการเมืองในหมู่ประชาชน ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงต้นเหตุของปัญหาสำคัญของชาติ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 ระบุมีข้าราชการที่ยอมรับใช้นักการเมืองเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 93.2 ระบุมีข้าราชการที่ยอมรับใช้นักการเมืองเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 92.5 ระบุมี ส.ส. มุ่งแย่งชิงอำนาจเพื่อตัวเองและพวกพ้องเพิ่มขึ้น ร้อยละ 91.5 ระบุมีข้าราชการที่ยอมรับใช้นักการเมืองมากกว่ารักษาทรัพย์สมบัติของประเทศชาติ ร้อยละ 91.2 ระบุมี ส.ส.ในสภาเข้ามาเพื่อหวังกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ร้อยละ 90.3 ระบุมี ส.ส. ยอมอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มนายทุน และร้อยละ 88.2 ระบุมีส.ส. และกลุ่มนายทุนที่หวังจะบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.7 ระบุว่ามีความจำเป็นต้องปรับคณะรัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 35.3 ระบุว่ายังไม่จำเป็น นอกจากนี้
เมื่อถามถึงบทบาทสำคัญของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ในการทำให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.2 ระบุว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ มีบทบาทสำคัญ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 ระบุว่าให้โอกาสนายจตุพร ที่จะรับตำแหน่งรัฐมนตรี ถ้ามีการปรับค.ร.ม. ในขณะที่ร้อยละ 39.7 ระบุว่าไม่ให้โอกาส อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.8 ยังไม่เชื่อมั่นว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์จะทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่แบ่งฝ่ายแบ่งสี ในขณะที่ร้อยละ 28.2 เชื่อมั่น
เมื่อสอบถามถึง ความหมายของคำว่า "ปรองดอง" ในความคิดเห็นของชาวบ้าน พบว่า ร้อยละ 48.2 ระบุความปรองดองคือ บ้านเมืองสงบสุข ไม่มีเหตุวุ่นวาย ในขณะที่รองๆ ลงไปคือ ร้อยละ 22.6 ระบุความปรองดองคือ การร่วมมือกันของทุกฝ่ายช่วยแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 11.9 ระบุความปรองดองคือ ใครผิดว่าไปตามผิด ทุกอย่างเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ร้อยละ 10.7 ระบุความปรองดองคือการยอมรับ การให้โอกาส และความเสียสละ และร้อยละ 6.6 ระบุความปรองดองคือการนิรโทษกรรมคดีการเมืองทุกคดี ตามลำดับ