รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า ที่ประชุมวุฒิสภาซึ่งมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาเป็นประธานการประชุมได้พิจารณาเรื่องด่วนในการเริ่มกระบวนการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจแทรกแซงกระทรวงวัฒนธรรมตามการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งที่ประชุมฯ จะกำหนดกรอบในการพิจารณา ทั้งวันแถลงของ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และนายสุเทพ ผู้ถูกกล่าวหา จากนั้นตามขั้นตอนวุฒิสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาหนึ่งคณะ เพื่อดำเนินการซักถามนายสุเทพพร้อมกับเปิดโอกาสให้นายสุเทพได้เอาข้อมูลและพยานมาหักล้างข้อกล่าวหาก่อนที่ที่ประชุมวุฒิสภาจะนัดลงมติ
สำหรับการจะถอดถอนนายสุเทพออกจากตำแหน่งได้นั้นวุฒิสภาต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 5 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 146 คน ซึ่งนายนิคม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า จะทำหน้าที่พิจารณาถอดถอนนายสุเทพไปตามกระบวนการของกฎหมาย ยึดหลักความเป็นธรรม ซึ่งการกำหนดกรอบในการพิจารณาจะไม่เร่งรัด แต่เวลามีจำกัดเพราะทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรทำงานต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม กรอบการพิจารณาในวันนี้ถือเป็นนัดแรกที่สมาชิกจะพิจารณาเอกสารหลักฐาน ทั้งของ ป.ป.ช. ในฐานะผู้กล่าวหา และนายสุเทพ ในฐานะผู้ถกกล่าวหา ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้ส่งมาให้ก่อนหน้านี้ พร้อมวางกรอบเวลาในการพิจารณา ส่วนการพิจารณานัดที่ 2 กำหนดเป็นวันที่ 3 ก.ย.55 และในวันที่ 7 ก.ย.55 จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อซักถามคู่ความ ส่วนสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นผู้เสนอแปรญัตติ ซึ่งได้กำหนดแถลงปิดคดีวันที่ 17 ก.ย.55 ก่อนลงมติในวันที่ 18 ก.ย.55 และการแถลงปิดคดี หากคู่ความแถลงปิดด้วยลายลักษณ์อักษรก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาด้วยตนเอง แต่ถ้าประสงค์แถลงปิดคดีด้วยวาจาก็จะเปิดโอกาสให้พูดอย่างเต็มที่
ขณะที่นายสุเทพ ยอมรับว่า รู้สึกกังวลในเรื่องดังกล่าว แม้ส่วนตัวมั่นใจในพยานหลักฐานที่มี และวันนี้ได้เตรียมยื่นข้อมูลใหม่ต่อวุฒิสภา ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยยกฟ้องกรณี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะ ผอ.ศปภ.แต่งตั้งส.ส.เพื่อไทย เข้าไปเป็นคณะทำงานดูแลเรื่องถุงยีงชีพของ ศปภ.ที่มีลักษณะของคดีที่คล้ายกันกับตนเองเพื่อนำมาเทียบเคียง ทั้งนี้ไม่ขอคาดการณ์คำวินิจฉัยของวุฒิสภาว่าจะออกมาแตกต่างกับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ก่อนหน้านี้หรือไม่ แต่อยากให้วุฒิสภาดูที่เจตนาเป็นหลัก
นายสุเทพ กล่าวว่า เป็นช่วงจังหวะชีวิตของตนเองที่จะต้องชี้แจงในคดีความต่างๆ ส่วนอนาคตทางการเมืองก็ยังไม่ขอพูดถึง ปล่อยให้เป็นเรื่องของแต่ละวัน
ล่าสุด ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติรับหลักฐานที่นายนายสุเทพ นำมายื่นเพิ่มเติม ด้วยคะแนน 98 ต่อ 1 เสียง ขณะที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิ ได้ให้สมาชิกเตรียมประเด็นคำถามเพื่อซักถามคู่ความ ในวันที่ 7ก.ย. โดยให้เริ่มส่งตั้งแต่วันนี้(27 ส.ค.)เป็นต้นไป