นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท โดยนายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้นำเสนอรายงาน พร้อมแสดงความเป็นห่วงกรณีที่รัฐบาลได้กำหนดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อวงเงินงบประมาณรายจ่าย สูงถึงร้อยละ 3.07 หรือ 73,700 ล้านบาท พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันไม่ให้สร้างหนี้สาธารณะสูงเกินไป
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการกำหนดนโยบายของรัฐบาลควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและฐานะการเงินการคลังของประเทศ และรัฐบาลควรนำเสนอรายละเอียดการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นมายังรัฐสภาด้วย
ทั้งนี้ เนื้อหารายงานของกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณพ.ศ.2556 ระบุว่า การกำหนดเป้าหมายด้านอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) สูงๆ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจเสมอไป เนื่องจากการที่เศรษฐกิจดีไม่ได้ประกอบด้วยอัตราการเจริญเติบโตเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเป้าหมายอื่นๆนอกจากเป้าหมายด้านการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่ เป้าหมายการจ้างงาน เป้าหมายการกระจายรายได้ และเป้าหมายการสร้างความเป็นธรรมในสังคมเหล่านี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราสูง อาจเนื่องมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งจากการใช้จ่ายจากเงินในงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ หรือ การปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐ หรืออาจเกิดจากการใช้สินเชื่อเกินขอบเขตโดยเฉพาะช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หรืออาจจะเกิดจากการบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่วัดจากการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผลที่ตามมา คือ ภาวะเงินเฟ้อ ภาระหนี้สินภาคครัวเรือน และความไม่มีประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจไทย
ดังนั้น รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อบูรณาการแผนงบประมาณในระดับเศรษฐกิจมหภาคอย่างเพียงพอ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมด้านต่างๆรวมทั้งให้ความสำคัญกับผลกระทบในระดับเศรษฐกิจยิ่งกว่าความต้องการตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักการรักษาเสถียรภาพพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและความเป็นธรรมในสังคมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167
สำหรับการพิจารณาในวันที่ 4 ก.ย. จะเป็นการพิจารณาภาพรวมการจัดทำงบประมาณ