นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามนโยบาย และนายสรรเสริญ สมะลาภา รมช.คลังเงา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ร่วมกันแถลงเปิดซีรี่ย์ 1 ปีของจริงไม่อิงละครตอนที่ 7"เอื้อนายทุนแต่หนี้ท่วมชาวบ้าน"โดยนายสรรเสริญ กล่าวว่า นโยบายลดอัตราการจัดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 23 มาเป็นร้อยละ 20 ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1.5 แสนล้านบาทเป็นอย่างน้อย นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2555-2557 และไม่ได้เป็นการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME)
"ที่ผ่านมาพบว่าการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวประโยชน์ไปตกอยู่ที่ธุรกิจรายใหญ่และธุรกิจขนาดกลางเท่านั้น จึงเห็นได้ชัดว่าการลดการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นการทำเพื่อช่วยเหลือนายทุน"นายสรรเสริญ กล่าว
อีกทั้งนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลออกมานั้นไม่ได้ช่วยประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค หรือแม้แต่นโยบายรถคันแรกและบ้านหลังแรกก็ล้วนแต่เป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการของพวกพ้องและคนรวยในสังคม
ขณะที่มติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาว่าจะมีการจ่ายค่าแรงเพิ่ม 100 ร้อยบาท และจะมีการชดเชยให้ 50 บาท ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะความจริงคือรัฐบาลชดเชยเงินให้เพียง 22 บาทเท่านั้น ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลนำเงินจำนวน 1.5 แสนล้านบาทที่ได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลมาชดเชยให้กับธุรกิจ SMEs ด้วย
ขณะที่ นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนของรัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม 5 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นอัตราการการก่อหนี้ที่เร็วที่สุดในรอบ 15 ปี จนกลายเป็น "ยิ่งลักษณ์ยิ่งกู้ ยิ่งกว่าสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ที่มีการกู้เงินจำนวน 4 แสนล้านบาท นอกจากนี้ในปี 56 ก็กำลังจะมีการก่อหนี้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการสร้างหนี้ของรัฐบาลเป็นการทำเพื่อฐานเสียงในด้านประชานิยม ซึ่งขณะนี้กำลังส่งผลกระทบกับทุกครอบครัว
"นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ก็ออกมาระบุอย่างชัดเจนว่าในอนาคตสัดส่วนการชำระหนี้ของครัวเรือนมีโอกาสเพิ่มสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ดังนั้นการดำเนินการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จงใจสร้างหนี้ให้ประชาชนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจและเป็นการซ้ำรอยการทุจริตในเชิงนโยบายในด้านโทรคมนาคมในอดีตด้วย" นพ.บุรณัชย์ กล่าว