สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนพบว่าส่วนใหญ่ให้โอกาสกับ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ทำงานต่อไป และ ส่วนใหญ่ ระบุควรให้โอกาส พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อต่อสู้ในทุกคดี
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง 1 ปีรัฐบาล ประชัน 1 ปีฝ่ายค้าน โอกาสของนางสาวยิ่งลักษณ์ โอกาสของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และประเด็นร้อนอื่นๆ ในสายตาของสาธารณชนว่า เมื่อถามถึงโอกาสที่ประชาชนให้กับ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.6 ระบุควรให้โอกาสทำงานต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 16.4 ระบุไม่ควรให้โอกาสแล้ว
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.3 ระบุควรให้โอกาส พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อต่อสู้ในทุกคดี ในขณะที่ร้อยละ 19.7 ระบุไม่ควรให้โอกาส แต่เมื่อถามถึงผลงานของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ต่อผลงานในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.3 ยังจำได้ต่อผลงานของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 25.7 จำไม่ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามประชาชนถึงสาเหตุที่จะทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่มั่นคง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.2 ระบุปัญหาทุจริตคอรัปชั่น รองลงมาคือ ร้อยละ 81.7 ระบุความขัดแย้ง แย่งชิงผลประโยชน์ของคนในฝ่ายรัฐบาลเอง ร้อยละ 74.3 ระบุความทุกข์ยากความเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 62.0 ระบุผู้มีอำนาจภายนอกรัฐบาล ร้อยละ 57.3 ระบุการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ และร้อยละ 49.5 ระบุฝ่ายค้าน ตามลำดับ
แต่เมื่อถามถึงช่วงเวลาที่สนับสนุนให้รัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรทำงานต่อไป พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.2 ระบุมากกว่า 2 ปีจนครบวาระ ในขณะที่ร้อยละ 20.1 ระบุ 1-2 ปี ร้อยละ 10.0 ระบุ 6 เดือนถึง 1 ปี และร้อยละ 14.7 ระบุไม่เกิน 6 เดือน ตามลำดับ
เมื่อสอบถามความพอใจของประชาชนต่อนโยบายสาธารณะ ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.8 พอใจนโยบายด้านสุขภาพของพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร้อยละ 30.9 พอใจพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 12.3 ไม่พอใจทั้งสองพรรค นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 53.9 ยังพอใจนโยบายด้านการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติของพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร้อยละ 35.1 พอใจนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 11.0 ไม่พอใจทั้งสองพรรค
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณาคือ นโยบายด้านค่าครองชีพ และนโยบายด้านแก้ปัญหายาเสพติด เป็นนโยบายที่ประชาชนยังไม่พอใจต่อทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในสัดส่วนที่สูงที่สุด คือ ร้อยละ 44.9 และร้อยละ 39.2 ตามลำดับ โดยร้อยละ 30.3 พอใจพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 24.8 พอใจพรรคประชาธิปัตย์ในนโยบายด้านค่าครองชีพ และเพียงร้อยละ 31.2 พอใจพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 29.6 พอใจพรรคประชาธิปัตย์เรื่องแก้ปัญหายาเสพติด
นอกจากนี้ นโยบายด้านการศึกษาและนโยบายด้านราคาสินค้าทางการเกษตรที่น่าเป็นห่วงเพราะ ไม่ถึงครึ่งหรือร้อยละ 40.2 ที่ประชาชนพอใจพรรคเพื่อไทย แต่ร้อยละ 46.7 พอใจพรรคประชาธิปัตย์ จนอาจกล่าวได้ว่า ชาวบ้านพอใจพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าในเรื่องนโยบายด้านการศึกษา ในขณะที่นโยบายด้านสินค้าทางการเกษตรได้รับความพอใจจากประชาชนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือร้อยละ 34.5 ที่พอใจต่อพรรคเพื่อไทย กับร้อยละ 35.1 ต่อพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อทำการศึกษาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และปัญหาอุปสรรคของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า ในเรื่องจุดแข็ง เช่น การแข่งขันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย การเข้าถึงประชาชน เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีความชัดเจนในนโยบายสาธารณะ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 52.6 ระบุพรรคเพื่อไทยมีจุดแข็งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ร้อยละ 34.1 ตรงกันข้าม ที่น่าพิจารณาคือ ในเรื่องจุดอ่อน เช่น ไม่แข่งขันกันในเชิงนโยบายสาธารณะ เอาแต่เล่นการเมือง มุ่งแย่งชิงอำนาจกันเกินไป คอยแต่จับผิดแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง ผิดจริยธรรมทางการเมือง เป็นต้น พบว่า ประชาชนร้อยละ 28.2 ระบุเป็นจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทยซึ่งหมายความว่ามีจุดอ่อนน้อยกว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ถึงร้อยละ 50.5
อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาถึง “โอกาส" ของทั้งสองพรรค เช่น มีอำนาจบริหารจัดการงบประมาณ และทรัพยากรของประเทศ มีอำนาจบริหารประเทศ พบว่า สัดส่วนของประชาชนมากพอๆ กันระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรค คือร้อยละ 45.4 เป็นของพรรคเพื่อไทยและร้อยละ 45.9 เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อศึกษา “ปัญหาอุปสรรค" เช่น การชุมนุมประท้วงหรือม็อบต่างๆ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 44.6 เป็นของพรรคเพื่อไทยและร้อยละ 49.6 เป็นของพรรคประชาธิปัตย์
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนในเวลานี้ยังคงให้โอกาสพรรคเพื่อไทยทำงานเพราะเล็งเห็นต่อนโยบายสาธารณะที่จับต้องได้ ชัดเจนถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เกิดขึ้นกับทุกนโยบาย แต่ความพยายามของพรรคเพื่อไทยในการเปลี่ยนแปลงบทบาททางการเมืองของประเทศกำลังอยู่ในการสนับสนุนของประชาชน เพราะฝ่ายการเมืองอื่นๆ มักจะเคลื่อนไหวในรูปแบบเดิมๆ เช่น การกล่าวร้ายโจมตีของจุดอ่อนจุดด้อยของรัฐบาลที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายสาธารณะที่ใกล้ตัวประชาชน ตรงกันข้ามพรรคเพื่อไทยมักจะโดดเด่นในการออกนโยบายสาธารณะที่จับต้องได้ในหมู่ประชาชน เช่น นโยบายด้านสุขภาพ และนโยบายด้านการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ
"อย่างไรก็ตาม นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ยังมีปัญหาคือ นโยบายด้านค่าครองชีพ และนโยบายด้านการแก้ปัญหายาเสพติด เป็นต้น และที่น่าพิจารณาคือ ความกล้าหาญของ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ที่มีแนวคิดเชิงนโยบายสาธารณะเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นฝ่ายค้านน่าจะเสนอนโยบายทางเลือกอื่นๆ มาประชันกันให้ประชาชนตัดสินใจมากกว่าการออกมาวิพากษ์วิจารณ์โจมตีหรือเล่นการเมืองแบบเดิมๆ คอยแย่งชิงอำนาจปั่นอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนกันเพียงอย่างเดียว และอย่าลืมถ้อยคำที่กล่าวกันว่า “ยิ่งถูกตียิ่งให้โอกาส" มักจะเกิดขึ้นในความรู้สึกของคนไทยจำนวนมาก" ดร.นพดล กล่าว
ทั้งนี้ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น สุรินทร์ อุดรธานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,251 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 4 - 8 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.0 เป็นชาย ร้อยละ 51.0 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 33.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 77.0 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 17.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 6.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.8 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.7 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 8.1 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 4.0 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ