เอแบคโพลล์ เผยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 75.2 เห็นด้วยที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อหาคนใหม่เข้ามาทำงานแก้ไขปัญหาให้รัฐบาล ได้แก่ ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ, ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด, ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น, ปัญหาด้านการศึกษา, ปัญหาการบุกรุกที่ดินอุทยานและป่าไม้, ปัญหาแรงงานข้ามชาติและค้ามนุษย์ และปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหามลพิษ และปัญหาชุมชนแออัด เป็นต้น
สำหรับความคิดเห็นต่อข้าราชการที่จะเกษียณอายุและกำลังสร้างผลงานในข่าวระยะหลังนี้ในตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะดูแลสานต่องานที่กำลังทำอยู่ในขณะรับราชการ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.2 เห็นด้วยถ้ารัฐบาลจะให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีดูแลด้านปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.3 ระบุว่าสำเร็จได้ยาก ถ้า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ไม่อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจในการแก้ปัญหายาเสพติดโดยตรง จะไม่มีอำนาจสั่งการทำให้ไม่มีใครเชื่อฟัง ไม่มีคนทำตาม ขณะที่ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาซับซ้อนมองมิติปราบปรามอย่างเดียวไม่ได้ และมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของขบวนการค้ายาเสพติด ถ้าไม่มีอำนาจและจะสั่งการใครได้ เป็นต้น แต่กลุ่มที่คิดว่าสำเร็จได้ง่ายในการแก้ปัญหายาเสพติดของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เพราะน่าจะมีบารมี มีพรรคพวก อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาที่ทำตามให้บรรลุเป้าหมายได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 56.9 เห็นด้วยถ้ารัฐบาลจะให้ นายดำรง พิเดช อธิบดีกรมอุทยาน มาเป็นรัฐมนตรีดูแลแก้ปัญหาบุกรุกที่อุทยานและป่าไม้ และร้อยละ 57.4 เห็นด้วยถ้ารัฐบาลจะให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ แต่อีกร้อยละ 42.6 ไม่เห็นด้วย
ส่วนการเลือกผู้ว่าฯ กทม.พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.8 ยังไม่ตัดสินใจแน่นอนว่าจะเลือกใคร โดยมีตัวเลือกในใจมากกว่า 1 คน ขณะที่ร้อยละ 37.2 ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกใคร โดยในกลุ่มคนที่ตัดสินใจแล้ว พบว่า ร้อยละ 40 เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รองลงมาร้อยละ 27.6 เลือกคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และร้อยละ 10.2 จะเลือก พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส
โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 85.1 ระบุว่า ต้องซื่อสัตย์สุจริต รองลงมาร้อยละ 74.4 ระบุว่าต้องทำงานรวดเร็วฉับไว แก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน และร้อยละ 73.8 ระบุว่าต้องกล้าคิดกล้าทำ
ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 90.8 ระบุว่า สิ่งที่ทำให้มีความทุกข์ในการใช้ชีวิต ได้แก่ ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ รองลงมาร้อยละ 88.3 เป็นปัญหายาเสพติด และร้อยละ 87.9 ระบุว่าเป็นปัญหาการจราจรติดขัด
ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ได้สำรวจเรื่อง "จากเวทีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ถึงการเมืองระดับชาติว่าด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี" จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 2,013 ตัวอย่าง และประชาชนใน 17 จังหวัดของประเทศ ระหว่างวันที่ 5-15 ก.ย.ที่ผ่านมา