ป.ป.ช.แถลงปิดคดียัน"สุเทพ"ก้าวก่วยงาน วธ.แต่เจ้าตัวยันเจตนาบริสุทธิ์

ข่าวการเมือง Monday September 17, 2012 12:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาเรื่องด่วนเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญ กรณีแทรกแซงการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากทำหนังสือขอส่งตัว ส.ส.และบุคคลอื่น เข้าช่วยงานในกระทรวงวัฒนธรรม โดยเป็นขั้นตอนที่ให้ฝ่ายผู้กล่าวหา คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) และฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา คือ นายสุเทพ แถลงปิดคดีด้วยวาจาฝ่ายละ 30 นาที ก่อนจะมีการลงมติในวันพรุ่งนี้

นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.แถลงปิดคดี โดยยืนยันว่า กรณีที่นายสุเทพโต้แย้งว่า ป.ป.ช.ไม่สามารถพิจารณาและลงโทษบุคคลเดียวกันซ้ำสองเพราะเคยตัดสินเรื่องดังกล่าวแล้วนั้น ป.ป.ช.สามารถดำเนินการได้ ส่วนที่นายสุเทพอ้างว่าลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีแล้ว ป.ป.ช.ก็สามารถดำเนินการสอบสวนได้ เพราะไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย เพราะยังมีผลให้นายสุเทพถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากการกระทำของนายสุเทพไม่ได้อยู่ในกรอบอำนาจในฐานะที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เป็นผู้ดูแลกระทรวงวัฒนธรรม

ส่วนหนังสือดังกล่าวที่นายสุเทพอ้างว่าเป็นการหารือ ไม่ได้บังคับรัฐมนตรีนั้น ป.ป.ช. เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องของการหารือ หรือบังคับ แต่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) แม้นายสุเทพจะดึงหนังสือกลับคืน และยังไม่มี ส.ส.หรือบุคคลใดเข้าไปทำงานที่กระทรวงวัฒนธรรมก็ตาม ส่วนที่นายสุเทพนำกรณี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ตั้ง ส.ส.เพื่อไทย เข้าไปช่วยงาน ศปภ.มาเทียบเคียงนั้นข้อเท็จจริงก็ไม่ตรงกันจึงไม่สามารถนำมาเทียบเคียงเรื่องการวินิจฉัยด้านกฎหมายกับเรื่องดังกล่าวได้

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ป.ป.ช.มีสิทธิที่จะไม่นำความเห็นของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ระบุว่าการกระทำของนายสุเทพไม่ขัดต่อบทบัญญัตรัฐธรรมนูญมาพิจารณา เพราะเป็นเพียงความเห็นเชิงวิชาการ อีกทั้งนายบวรศักดิ์ใช้เพียงคำว่า "ไม่น่าจะขัด" นั่นหมายความไม่ได้ให้คำยืนยัน ทั้งนี้ ยืนยัน ป.ป.ช.ทำหน้าที่ด้วยความกลางและอิสระ วินิจฉัยบนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ แม้บางครั้งต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยวและต้องรักษาสถานะของตัวเอง โดยไม่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองเหมือนการทำหน้าที่ของตุลาการ พร้อมกันนี้นายกล้านรงค์ยังได้กล่าวตัดพ้อต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า ป.ป.ช.ทำงานได้ดีแค่เสมอตัวกับติดลบเท่านั้น

ด้านนายสุเทพแถลงปิดคดี โดยย้ำว่า รมว.วัฒนธรรม ยังไม่ได้อ่านหรือสั่งการใดๆ และเมื่อมีการทักท้วงก็ขอหนังสือกลับ ซึ่งข้อความในหนังสือมีเพียงแจ้งความประสงค์ว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะขอช่วยงานในกระทรวงฯ ซึ่งไม่ใช่คำสั่ง และรัฐมนตรีมีอิสระในการสั่งการตามที่เห็นสมควร พร้อมย้ำว่าเป็นการทำตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีในการบริหารงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

และเห็นว่า มติของ ป.ป.ช.มีความขัดแย้งกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยตัดสินในลักษณะดังกล่าวที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก แต่งตั้ง ส.ส.เพื่อไทย เข้าไปช่วยงานที่ ศปภ.ซึ่งศาลจำหน่ายคดีเพราะเห็นว่าไม่มีความผิด แต่ ป.ป.ช.ตีความขัดต่อข้อกฎหมายต่างจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลยึดเจตนารมย์ของกฎหมายเป็นหลัก แต่ ป.ป.ช.ไมได้พิจารณาในเรื่องนี้ ป.ป.ช.น่าจะวินิจฉัยตามแนวทางเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะผลวินิจฉัยของศาลมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรทั้งรัฐสภา ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่กระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งมั่นใจว่าการกระทำของตนเองไม่เข้าข่าย เพราะตามข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฎว่ารัฐได้รับความเสียหายจากการกระทำของตนเอง และ ป.ป.ช.เองก็ไม่ได้ระบุในสำนวนว่าการกระทำดังกล่าวเสียหายอย่างไร ทั้งนี้ การกระทำของตนเองไม่ได้กระทำการต้องห้ามตามมาตรา 266(1) และการกระทำทั้งหมดเป็นเจตนาดี ดังนั้นขอให้สมาชิกพิจารณาจากเจตนาที่แท้จริงจากตนเองด้วย

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเคารพดุลยพินิจของสมาชิกวุฒิสภา นอกจากนี้นายสุเทพยังชี้ให้เห็นว่า ป.ป.ช.ไม่ได้นำความเห็นของนายบวรศักดิ์ซึ่งเป็นพยานฝ่าย ป.ป.ช. และความเห็นของคณะพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก ป.ป.ช. ซึ่งระบุว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลความผิดตามที่ข้อกล่าวหามาพิจารณาด้วย เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่ได้ยกฟ้องในคดีดังกล่าว

หลังแถลงปิดสำนวนเสร็จสิ้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมได้นัดประชุมในเวลา 11.00 น. วันที่ 18 ก.ย.นี้ เพื่อลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ ซึ่งจะใช้วิธีการลงคะแนนแบบลับ โดยขานชื่อให้ ส.ว.รับบัตรลงคะแนนทีละคน ทั้งนี้หากนายสุเทพจะพ้นจากตำแหน่งได้จะต้องได้เสียงของสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ซึ่งขณะนี้มี ส.ว.อยู่ทั้งสิ้น 146 คน ดังนั้นต้องได้เสียงถอดถอนตั้งแต่ 89 คนขึ้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ