นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ชี้หากทุกฝ่ายยอมรับข้อสรุปรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปรองดองภายในชาติ
"แน่นอนเวลามีรายงานออกมา คนก็อาจจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ผมก็ยังอ่านไม่หมด ก็ไม่ได้บอกว่าผมเห็นด้วยหมดหรือไม่เห็นด้วยเสียทั้งหมด คือถ้าตั้งใจอ่านแล้วก็ค่อยๆ แกะไปในแต่ละเรื่อง แต่ละเหตุการณ์ แต่ละช่วง มันก็จะต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล การยอมรับ คอป.ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเห็นด้วยกับ คอป.ทั้งหมด...คอป.เองก็ยอมรับว่าสิ่งที่นำเสนอนั้นอาจจะต้องมีจุดที่ไม่พอใจ " นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า ถ้าจะปรองดองแล้วก็ต้องมาเริ่มดูว่า ชุดความจริงที่ คอป.รวบรวมมากับชุดความจริงซึ่งแต่ละฝ่ายถืออยู่ขึ้นมาดูแล้วหาจุดร่วมกันอย่างไร อย่างนี้จะเป็นแนวทางของการปรองดองได้ แต่ถ้าหากอะไรก็ตามซึ่งเป็นชุดความจริงตรงกับความเชื่อของตัวเองก็บอกว่าใช้ได้ ถ้าเขียนมาไม่ตรงก็ประณามไม่ยอมรับ ดิสเครดิต ก็นึกไม่ออกว่าแล้วกระบวนการปรองดองนั้นมันจะเริ่มได้ตรงไหนอย่างไร
"ถ้าตรงไหนที่ไม่เห็นด้วยก็บอกมา เช่น ที่เชื่อว่า คอป.ผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั้นเพราะว่าลืมไปดูพยานตรงนั้น หลักฐานตรงนี้ หรือว่า พยานหลักฐานของ คอป. ที่เป็นที่มาของข้อสรุปมันไม่น่าเชื่อถือหรืออะไร ว่ากันไป แต่ว่าถ้าเราเริ่มจากทัศนคติที่บอกว่า ไม่รับ กล่าวหากันไป ใส่ร้ายกันไป กันไปกันมา ก็ยุ่งละครับทีนี้ มันจะไปเริ่มต้นยังไง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีคงต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ว่าจะเดินหน้ากันอย่างไร ถ้ารัฐบาลบอกว่า จะหาช่องทางเชิญทุกฝ่ายมาคุยกันก็น่าจะเป็นแนวทางซึ่งทำให้เราพอจะมีความหวังว่า การปรองดองที่แท้จริงนั้น มันพอจะเดินได้ แต่ถ้าบอกว่า ไม่เอาเลย เราก็จะได้ทราบว่า ตกลงแล้ว คอป.นั้นก็จะไม่สามารถทำอะไรต่อไปได้แล้ว เพราะรัฐบาลพูดชัดเลยว่า ความปรองดอง ข้อเสนอแนะที่เขาเสนอมานั้นไม่เอา
"จะได้ชัดกันไปเลยครับว่า ตกลงคำว่าปรองดองของรัฐบาลหมายถึงอะไร ต้องหมายถึงการนิรโทษกรรมคุณทักษิณอย่างเดียวใช่หรือไม่ เราก็ต้องว่ากันอย่างนี้ " นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า ตรงนี้เป็นบททดสอบสำคัญว่าเรามีกลไกแบบนี้ขึ้นมาแล้ว เราจะใช้ประโยชน์จริงหรือไม่ แล้วก็มันก็จะเป็นตัวที่เริ่มฟ้องต่อสังคมเองว่า คำว่าปรองดองนั้นความหมายของแต่ละคนคืออะไร แล้วมีความพยายามที่จะปรองดองกันจริงหรือไม่ ถ้านายกรัฐมนตรีจะออกมาบอกว่า เนื่องจากในนโยบายรัฐบาลเองก็ได้แถลงชัดว่าจะสนับสนุนการทำงานอะไรของ คอป.แล้วก็ทำให้คนเข้าใจว่า นโยบายปรองดองของรัฐบาลนั้นก็ต้องมีกลไกของ คอป. ที่สำคัญ เป็นกลไกสำคัญ เป็นหลัก นายกรัฐมนตรีก็อาจจะต้องบอกว่า จะมาพิจารณาตรงนี้กันด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยเจตนาที่จะปรองดองอย่างไร แล้วก็ต้องบอกกับผู้สนับสนุน หรือพรรคการเมืองของท่านว่า เอาละรายงานนี้อาจจะมีหลายสิ่ง หลายอย่างที่ไม่ถูกใจ หรือเห็นว่าคลาดเคลื่อน แต่ต้องเชิญทุกฝ่ายให้มาสามารถที่จะแลกเปลี่ยน และเดินหน้าตรงนี้ได้อย่างมีเหตุมีผล
"ถ้าเกิดว่านายกรัฐมนตรีไม่ทำตรงนี้แล้วปล่อยสภาพเป็นอย่างนี้ ก็พูดง่ายๆ ก็คือว่า คนก็หยิบเอารายงานมาดู แล้วก็ทำอย่างที่ คอป.ก็ไม่อยากให้ทำ ก็คือแค่จะบอกไม่เอา หรือว่าจะหยิบบางสิ่งบางอย่างที่คิดว่าตรงกับของตัวเอง แล้วก็มาพูดอย่างเดียว ผมว่ามันก็ไม่จบหรอกครับ สถานการณ์บ้านเมืองมันก็ต่อเนื่องกันไปในเรื่องความขัดแย้ง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีบอกจะส่งให้ ปคอป.ไปดู ไม่น่าจะเป็นคำตอบที่เพียงพอต่อการที่จะขับเคลื่อนตรงนี้ได้ เพราะถ้านายกรัฐมนตรีดูรายงานแล้วน่าจะมองเห็นว่า สิ่งที่จะต้องทำเพื่อสร้างความปรองดองในบ้านเมืองนั้น มันเกินเลยกว่าหน่วยงานที่ ปคอป. จะเป็นตัวแทนได้ เพราะฉะนั้นอยากให้นายกฯ มีเวลาที่จะดูตรงนี้ เพราะไม่อยากให้งานสูญเปล่า
อย่างไรก็ตาม ตนเองเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่เชื่อว่าใครจะมีความสุขได้กับการมีบ้านเมืองที่มีแต่ความขัดแย้ง สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไร คงต้องอาศัยคนที่เป็นระดับผู้นำในฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ในวิสัย อยู่ในฐานะที่จะพยายามมาพูดคุยกันแล้วหาทางออกให้กับสังคมได้
"มันต้องเป็นหลายฝ่าย ผมยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูปในเรื่องนี้ว่า รูปแบบมันควรจะเป็นอย่างไร แต่ผมมองว่า ปล่อยให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่นั้นมันจะไม่เดินไปไหน แล้วก็ถ้าคำตอบรัฐบาลเพียงตอบว่า ส่งให้ ปคอป. ผมก็มั่นใจว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เดินไปไหน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว